โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,576,434.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้อง คำให้การ และคำรับของคู่ความทั้งสองฝ่ายในรายงานกระบวนพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีพอจะวินิจฉัยได้ จึงให้งดสืบพยานโจทก์กับพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 พฤษภาคม 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติตามที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 84404 และ 79271 กับโจทก์ราคา 11,490,000 บาท โดยโจทก์วางเงินค่ามัดจำไว้ 300,000 บาท ส่วนเงินที่เหลือจะชำระในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยในฐานะผู้จะขายเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอน ค่าภาษีการโอน ค่าอากร ตลอดจนค่าดำเนินการต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อถึงกำหนดนัดโจทก์เตรียมเงินสดและแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายเงินให้แก่จำเลย ในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่สอบถามถึงราคาที่ดินที่จะซื้อขายเพื่อกำหนดทุนทรัพย์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอน โจทก์ได้แสดงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในราคา 11,490,000 บาท จำเลยเห็นว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจะแจ้งราคาที่ดินที่ซื้อขายทั้งสองแปลงตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของเจ้าพนักงานที่ดินที่ใช้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยทั่วไป ไม่ใช่ถือเอาราคาทุนทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน เพราะจะทำให้จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมการโอนเพิ่มขึ้นอีก 229,800 บาท ถือว่าโจทก์ผิดข้อตกลง จำเลยจึงไม่ขายที่ดินให้แก่โจทก์และคืนเงินมัดจำทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้ว
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ของศาลชั้นต้นมาประกอบการพิจารณาคดีด้วย ชอบหรือไม่ เห็นว่า รายงานกระบวนพิจารณาเป็นเอกสารที่ศาลจดบันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาล เมื่อจำเลยแถลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเรื่องค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าโจทก์กับจำเลยตกลงจะเสียค่าธรรมเนียมในการโอนตามราคาประเมินที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าว เมื่อรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวมีบันทึกไว้ว่าศาลชั้นต้นได้สอบโจทก์ด้วยและถือเป็นคำรับของคู่ความทั้งสองฝ่าย โจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่าที่จำเลยแถลงดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่โจทก์กับทนายโจทก์กลับลงลายชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาอีก ทั้งโจทก์ไม่แถลงขอสืบพยานโจทก์เพื่อหักล้างคำแถลงของจำเลยดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับว่าข้อเท็จจริงศาลบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงจากคำแถลงรับของคู่ความและเอกสารที่คู่ความนำส่งศาลเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้ว ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยอมรับกันในวันชี้สองสถานดังกล่าวและข้อเท็จริงจากพยานเอกสารที่คู่ความยื่นต่อศาลมาวินิจฉัยได้ โดยไม่จำต้องให้คู่ความอ้างอิงรายงานกระบวนพิจารณาไว้ในบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 นำรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ของศาลชั้นต้นมาประกอบการพิจารณาคดีจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า แม้จะเป็นจริงตามที่โจทก์ต่อสู้ แต่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้อ 4 เป็นเพียงข้อตกลงในชั้นจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนค่าภาษีการโอน ค่าอากร ตลอดจนค่าดำเนินการต่าง ๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์เท่านั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนที่จะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โจทก์กับจำเลยตกลงเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมในการโอนว่าจะเสียค่าธรรมเนียมในการโอนตามราคาประเมินที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้างต้น แต่ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ราคาซื้อขายที่จะแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอันเป็นการหลีกเลี่ยงค่าภาษีและค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอน ข้อตกลงส่วนนี้จึงโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จึงมีผลเท่ากับไม่มีข้อตกลงดังกล่าวไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ระบุให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนทั้งสิ้น โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 457 บัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ให้ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย จึงพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งคดีว่าคู่กรณีได้เจตนาให้ข้อสัญญาข้ออื่นที่สมบูรณ์แยกออกจากข้อ 4 ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นโมฆะตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน เว้นแต่ข้อ 4 จึงสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดให้ผู้ใดออกค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กรณีจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 457 คือพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก โจทก์จะอ้างว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยในการออกค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียวหาได้ไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมที่จะเสียค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินคนละครึ่งกับจำเลย โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชำระหนี้ได้ ในประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างละเอียดและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข เมื่อจำเลยไม่จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่โจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ