โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 กับนับโทษจำเลยต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ ช.10190/2529และคดีหมายเลขแดงที่ ช.1778/2529 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3(1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 3 เดือนรวมสองกระทงจำคุก 6 เดือน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบตรงกันฟังได้ว่า จำเลยได้ออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับนี้ให้โจทก์เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ จึงมีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คหรือไม่ จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดเพราะเป็นเช็คที่ออกมาเพื่อประกันหนี้ที่จำเลยค้างชำระโจทก์ โดยจำเลยนำสืบว่า เดิมทีจำเลยเคยเอาเช็คของลูกค้าของโรงงานจำเลยมาขายโจทก์ ต่อมาโจทก์บอกให้จำเลยนำเงินไปชำระมิฉะนั้นจะให้เจ้าพนักงานตำรวจจัดการจำเลยจึงไปตรวจสอบหนี้สินกับโจทก์ ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์เป็นเงิน 496,000 บาท จำเลยได้ชำระหนี้เป็นเงินสด40,000 บาทเศษคงเหลือเป็นหนี้เป็นเงิน 450,000 บาท โจทก์ให้จำเลยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 45,000 บาท ให้จำเลยออกเช็คค้ำประกันรวม 8 ฉบับ นอกจากนี้ยังให้บิดามารดาและพี่สาวจำเลยออกเช็คค้ำประกันให้ด้วย ตามที่จำเลยนำสืบมาว่าได้หักทอนบัญชีกันแล้วจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์ 450,000 บาท โจทก์จึงให้จำเลยชำระหนี้เดือนละ 45,000 บาท โดยจำเลยออกเช็คให้โจทก์ไว้ เห็นว่าเช็คที่จำเลยออกให้โจทก์นี้เป็นเช็คชำระหนี้ตามปกติ ไม่ได้เป็นเช็คประกันอย่างที่จำเลยคิดหรืออ้างเป็นข้อต่อสู้ ซึ่งเมื่อขึ้นเงินหรือเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้จำเลยก็ต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3(1) ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ ช.10190/2529 และคดีหมายเลขแดงที่ช.1778/2529 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยไม่นับโทษต่อให้ โจทก์ไม่ฎีกาหรือแก้ฎีกาในข้อที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษต่อ ศาลฎีกาจึงไม่นับโทษต่อให้"
พิพากษายืน