โจทก์ฟ้องว่า จำเลยไม่มีสิทธิใช้ยศร้อยตำรวจโท ได้อ้างแสดงว่าตนมียศเป็นร้อยตำรวจโทเพื่อให้นายวินัย เอี่ยมจิตรและคนทั้งหลายเชื่อเช่นนั้น และกล่าวฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทมีใจความว่า จำเลยได้ใส่ความนายเลื่องบุญ ศราภัยวนิช ต่อนายไชยยง ชวลิต ผู้อำนวยการบริษัทไทยพาณิชยการ จำกัดและนายชาญ สินสุข บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกรว่า นายเลื่องบุญเป็นผู้นำคนไทยจำนวนหนึ่งไปทัศนาจรประเทศอินเดีย แล้วคนไทยถูกเจ้าพนักงานศุลกากรอินเดียยึดทองคำที่นำติดตัวไปนั้นเก็บไว้และออกใบรับให้ต่อมานายเลื่องบุญได้หลอกลวงเอาใบรับไปยื่นขอรับทองคำจากเจ้าพนักงานศุลกากรอินเดีย เองในทำนองทุจริตทั้งนี้ จำเลยกระทำโดยประสงค์ต่อผลในการหมิ่นประมาทนั้นว่านายไชยยง กับนายชาญจะต้องนำข้อความดังกล่าวออกโฆษณาด้วยเอกสารหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยและสยามนิกร ต่อมานายไชยยง และนายชาญ ได้โฆษณาข้อความนั้นในหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ทำให้นายเลื่องบุญเสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 146, 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายเลื่องบุญ ศราภัยวนิช ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาตให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมเฉพาะข้อหาตามมาตรา 326, 328
ศาลแขวงพระนครใต้เห็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 326, 328แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 328 ซึ่งเป็นบทหนัก รอการลงโทษ ส่วนข้อหาตามมาตรา 146 ให้ยก
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ให้ลงโทษหนักขึ้นและอย่ารอการลงโทษ จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การที่จำเลยกล่าวข้อความแก่นายไชยยงแล้วนายไชยยงได้นำข้อความนั้นไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ที่ตนเป็นบรรณาธิการนั้น จำเลยหาควรมีความผิดตามมาตรา 328 ด้วยไม่ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 84 พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 326 สำหรับข้อหาฐานใช้ยศร้อยตำรวจโทโดยไม่มีสิทธินั้น ผู้ว่าคดีโจทก์มิได้อุทธรณ์จึงเป็นอันยุติ
ผู้ว่าคดีโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามมาตรา 328 ประกอบกับมาตรา 84
ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวยังเห็นอีกว่าตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยได้ ใช้ บังคับขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริมหรือได้กระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อนายไชยยงให้พิมพ์ข้อความนั้นแต่ประการใด ทั้งพยานโจทก์และโจทก์ร่วมก็มิได้เบิกความว่าจำเลยได้กระทำเช่นนั้น จำเลยจึงยังไม่ควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ประกอบด้วย มาตรา 84
พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์