ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีละเมิดหลังมีคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด และข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
คำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทน จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ อันถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาล และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ.จัดปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 เข้ารื้อถอนที่พักอาศัยของโจทก์และทำลายทรัพย์สินของโจทก์ เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสามจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวโดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดไม่ได้
ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป และมาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมี ดังนี้ เมื่อโจทก์เป็นจำเลยในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง และศาลชั้นต้นในคดีอาญาดังกล่าวพิพากษาลงโทษโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว แสดงว่าไม่มีการอุทธรณ์ฎีกาหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีอาญาย่อมมีผลบังคับแก่โจทก์ ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์หามีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญาดังกล่าว จึงขอให้บังคับแก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสาม เป็นการบังคับคดีในคดีอาญาดังกล่าว ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง