โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337, 91 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 23 และให้จำเลยคืนเงิน 12,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6 วรรคแรก, 23 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ฐานกรรโชก จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก3 ปี รวมจำคุกจำเลย 3 ปี 3 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 9,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก รวม 4 กระทง โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตระงับไปหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานรับไว้ด้วยประการใด ๆ อันของซึ่งตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด เมื่ออธิบดีกรมศุลกากรได้อนุมัติให้ระงับการดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว จึงต้องระงับการดำเนินคดีความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตด้วยนั้น แม้จำเลยเพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225 เห็นว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและความผิดฐานรับไว้ด้วยประการใด ๆ อันของซึ่งตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดนั้น แยกออกต่างหากจากกันได้ชัดเจนทั้งเจตนาในการกระทำสภาพและลักษณะของการกระทำ ตลอดจนกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ก็เป็นคนละฉบับกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยในฐานความผิดสองฐานดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดต่างกรรม แม้อธิบดีกรมศุลกากรอนุมัติให้ระงับการดำเนินคดีจำเลยในความผิดฐานรับไว้ด้วยประการใด ๆ อันของซึ่งตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด ก็ไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตระงับไปด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตในสถานเบานั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว จำเลยไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน