โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 505,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 นำทรัพย์สินจากกองมรดกของนางนวลอนงค์ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลชั้นต้นให้รอไว้พิพากษาพร้อมกับในส่วนของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 105,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ โดยให้จำเลยที่ 2 นำทรัพย์สินจากกองมรดกของนางนวลอนงค์ มาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ดังกล่าว กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำกับโจทก์ในระหว่างพิจารณานั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 จำเลยที่ 1 กู้เงินไปจากโจทก์ 400,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระเงินคืนภายในวันที่ 1 มีนาคม 2559 แต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินคืน โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 12 กันยายน 2560 บอกเลิกสัญญาและทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของนางนวลอนงค์ กลุ่มงานตรวจเอกสาร กองพิสูจน์หลักฐานกลางตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันในหนังสือค้ำประกัน ด้านหลัง เปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนางนวลอนงค์ แล้วลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2561 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 1 ตกลงชำระหนี้เงินกู้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ 505,000 บาท ด้วยวิธีผ่อนชำระงวดละ 10,000 บาท เริ่มชำระสิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 และทุก ๆ สิ้นเดือนของเดือนถัดไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีในส่วนที่ค้างชำระได้ทันทีพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินที่เหลือนับจากวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่จะต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้กู้และจำเลยที่ 2 ทายาทของนางนวลอนงค์ให้รับผิดแทนนางนวลอนงค์ในฐานะผู้ค้ำประกัน การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลภายหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วเกิดขึ้นในศาลขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาระงับข้อพิพาทตามฟ้องโดยประสงค์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับหนี้ตามฟ้องตามข้อตกลงดังกล่าว มิใช่เพื่อระงับหนี้เดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีผลเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนวลอนงค์ กรณีจึงไม่มีผลทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินระงับหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว ทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินระงับเกิดเป็นหนี้ใหม่อันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดอีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น สำหรับประเด็นตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัย นั้น เนื่องจากคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน ด้านหลัง เป็นลายมือชื่อของนางนวลอนงค์หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้มีการส่งสัญญาค้ำประกันไปตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อในช่องผู้ค้ำประกันเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของนางนวลอนงค์ตามคำแถลงของจำเลยที่ 2 และกองพิสูจน์หลักฐานกลางตรวจพิสูจน์แล้วลงความเห็นว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน แต่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ตกลงท้ากันให้ถือตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นข้อแพ้ชนะ ในขณะที่ความแตกต่างของลายมือชื่อที่เป็นปัญหากับตัวอย่างลายมือชื่อที่ตรวจพิสูจน์อาจเกิดจากบุคคลที่เป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นเองเจตนาลงลายมือชื่อที่เป็นปัญหาให้ผิดไปจากที่เคยลงลายมือชื่อไว้ หรืออาจเกิดจากปัจจัยอย่างอื่น เช่น ความเร่งรีบ อิริยาบถ สภาวะอารมณ์ อาการเจ็บป่วย หรืออาจมีสาเหตุมาจากกระดาษที่ลงลายมือชื่อหรือปากกาที่ใช้ก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างลายมือชื่อของนางนวลอนงค์จำนวน 5 ลายมือชื่อ ที่ใช้ตรวจพิสูจน์ก็ปรากฏว่ามีข้อแตกต่างกันเองอยู่หลายจุด ไม่ว่าจะอักษร น ที่เริ่มต้นลากเส้นคนละตำแหน่งทำให้หัวอักษรมีลักษณะต่างกัน การลากตวัดขึ้นก่อนจบตัวอักษรมีทั้งแบบที่เป็นมุมแหลมทำให้ดูคล้ายกับเป็นอักษร พ หรือ บ เป็นแบบวงกลมที่มีช่องว่าง เป็นแบบวงรี และเป็นแบบวงกลมทึบ ส่วนอักษร ฉ หัวอักษรมีทั้งแบบที่เริ่มต้นลากจากด้านในขึ้นไปแล้วลากลงมาเป็นมุมแหลม ลากจากด้านนอกขึ้นไปแล้วลากลงมาเป็นหัวอักษรแบบมนกับแบบแหลมมุม และแบบที่เริ่มต้นลากลงมาโดยไม่มีหัวอักษรเลย การตวัดก่อนจะจบตัวอักษรมีทั้งแบบตวัดครั้งเดียว 3 ลายมือชื่อ และตวัด 2 ครั้ง 2 ลายมือชื่อ ความยาวของการตวัดมีทั้งตวัดกลับมาอยู่ในแนวเดียวกับหัวอักษร 3 ลายมือชื่อ กับที่ตวัดกลับมาแค่กึ่งกลางตัวอักษร 2 ลายมือชื่อ ฉะนั้นรายงานการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อนี้จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่จะต้องนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์และจำเลยที่ 2 นำสืบมา หาใช่ว่าเมื่อผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไรแล้ว ศาลจะต้องรับฟังตามนั้นเสมอไป โดยในส่วนของพยานหลักฐานอื่นโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์กับนางนวลอนงค์มีความสนิทสนมกันดีเนื่องจากเคยรับราชการครูอยู่ที่โรงเรียนเดียวกัน หลังจากเกษียณอายุราชการโจทก์เปิดร้านขายรถจักรยานยนต์ ส่วนนางนวลอนงค์เปิดร้านขายไก่ย่างห่างกันประมาณ 50 เมตร จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหลานของนางนวลอนงค์เคยมาขอกู้เงินจากโจทก์ 400,000 บาท แต่โจทก์ปฏิเสธเนื่องจากไม่มีความสนิทสนม โดยบอกให้ไปจัดหาผู้ค้ำประกันมา ต่อมากลางเดือนธันวาคม 2558 นางนวลอนงค์โทรศัพท์มาขอให้โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยนางนวลอนงค์จะเป็นคนรับรองเอง โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เงิน แต่ขอเวลารวบรวมเงินโดยนัดทำสัญญากันปลายเดือนธันวาคม 2558 และเมื่อรวบรวมเงินครบโจทก์ก็โทรศัพท์แจ้งนางนวลอนงค์ให้จำเลยที่ 1 มาทำสัญญาที่บ้านของโจทก์ จากนั้นวันที่ 28 ธันวาคม 2558 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยที่ 1 มาพบโจทก์ที่บ้านแต่นางนวลอนงค์ไม่ได้มาด้วย โจทก์จึงปฏิเสธที่จะทำสัญญา จำเลยที่ 1 จึงโทรศัพท์ติดต่อนางนวลอนงค์ได้รับแจ้งว่ากำลังยุ่งเพราะมีลูกค้าจำนวนมากให้ทำสัญญากู้เงินไปก่อน โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงทำสัญญากู้เงิน แต่ยังไม่ส่งมอบเงินให้ จากนั้นก็พากันไปหานางนวลอนงค์ที่ร้านไก่ย่างแจ้งให้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน แต่นางนวลอนงค์มีท่าทางอิดเอื้อน และบอกว่าไม่มีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน โจทก์จึงบอกว่าต้องการจัดการเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นไปเพราะเกรงว่าสามีจะตำหนิ นางนวลอนงค์จึงขับรถจักรยานยนต์ไปถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมามอบให้จำเลยที่ 1 เพื่อกรอกข้อมูลลงในสัญญาค้ำประกัน เสร็จแล้วก็ให้นางนวลอนงค์ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันและรับรองความถูกต้องของสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จากนั้นโจทก์ก็มอบเงิน 400,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อครบกำหนดชำระเงินตามสัญญา จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินคืน โจทก์จึงไปพูดคุยกับนางนวลอนงค์ และเมื่อนางนวลอนงค์ถึงแก่ความตายไป โจทก์ก็ได้ให้สามีไปพูดคุยกับทายาทของนางนวลอนงค์ แต่ทายาทของนางนวลอนงค์ปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่อง จากนั้นจึงมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 โดยเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ขณะทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันไม่มีบุคคลที่รู้จักอยู่ด้วย จึงไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อในช่องพยาน เมื่อครบกำหนดชำระเงินจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินมาชำระ โจทก์จึงไปแจ้งนางนวลอนงค์ที่ร้านไก่ย่าง แต่นางนวลอนงค์บอกให้รอก่อน ขณะที่ไปร่วมงานศพของนางนวลอนงค์ โจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องสัญญาค้ำประกันให้บุตรของนางนวลอนงค์ทราบเนื่องจากเห็นว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า แต่โจทก์ได้ให้สามีของโจทก์ไปแจ้งให้ทายาทของนางนวลอนงค์ทราบ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีลำดับเรื่องราวแสดงให้เห็นถึงที่มาที่ไปของการทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน นอกจากนี้โจทก์ยังอ้างจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับนางนวลอนงค์มีศักดิ์เป็นอาหลานกัน โดยเบิกความถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกัน มีลำดับเรื่องราวสอดคล้องต้องกันกับที่โจทก์เบิกความ หากโจทก์และจำเลยที่ 1 เจตนาสร้างเรื่องขึ้นเพื่อให้จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันโดยไม่มีมูลความจริงแล้ว ก็ไม่จำต้องปั้นแต่งข้อเท็จจริงที่เบิกความให้มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายดังที่เบิกความมาข้างต้นซึ่งอาจทำให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสตรวจสอบข้อพิรุธด้วยการถามค้าน แต่จากที่โจทก์และจำเลยที่ 1 เบิกความมานั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีพิรุธให้ต้องระแวงสงสัยดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่นางนวลอนงค์อิดเอื้อนหรือไม่เต็มใจลงลายมือชื่อ สัญญาค้ำประกันระบุว่าทำที่บ้านของโจทก์ ไม่ระบุเลขที่บ้านของร้านไก่ย่าง ลายมือชื่อของนางนวลอนงค์ในสัญญาค้ำประกันกับที่รับรองความถูกต้องของสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมีความแตกต่างกันทั้ง ๆ ที่ลงลายมือชื่อในเวลาเดียวกัน โจทก์ไม่ให้สามีของโจทก์อยู่ร่วมรู้เห็นเป็นพยานในการทำสัญญาตลอดจนไม่มีบุคคลใดเป็นพยานในสัญญาค้ำประกัน หลังจากถึงกำหนดชำระโจทก์ไม่เคยทวงถามเป็นหนังสือไปถึงนางนวลอนงค์ ไม่เคยไปทวงถามที่บ้านนางนวลอนงค์ เมื่อไปร่วมงานศพก็ไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทายาทคนใดทราบเพิ่งมีหนังสือทวงถาม หลังจากที่นางนวลอนงค์ถึงแก่ความตายไปแล้ว 11 เดือน นอกจากนี้ในทางกลับกันจำเลยที่ 2 ให้การว่า นางนวลอนงค์เป็นเพียงผู้แนะนำให้จำเลยที่ 1 ได้พบหรือรู้จักกับโจทก์เพื่อขอกู้เงินจากโจทก์ 200,000 บาท ซึ่งกลับเจือสมกับที่โจทก์นำสืบมา นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 2 เบิกความในทำนองว่า ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยากัน หากมีการกระทำหรือที่จะกระทำแล้วอาจมีผลกระทบกับครอบครัว จำเลยที่ 2 กับนางนวลอนงค์จะปรึกษาหารือกันตลอด แต่นางนวลอนงค์ไม่เคยนำเรื่องที่ไปทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้กับโจทก์มาพูดคุยหรือปรึกษาด้วยนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวง่ายต่อการยกขึ้นกล่าวอ้าง ทั้งจำเลยที่ 2 คงอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความเพียงปากเดียวโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนที่จะมีน้ำหนักหักล้างข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบให้เห็นว่านางนวลอนงค์ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องให้ไว้แก่โจทก์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักน่ารับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นางนวลอนงค์ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางนวลอนงค์จึงต้องรับผิดนำทรัพย์สินจากกองมรดกมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นั้น ความปรากฏว่าสัญญากู้เงิน กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้คืนภายในวันที่ 1 มีนาคม 2559 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินคืน จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2559 แต่โจทก์เพิ่งมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามลงวันที่ 12 กันยายน 2560 ไปยังจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของนางนวลอนงค์ โดยจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 อันเป็นกรณีที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ไปยังผู้ค้ำประกันล่วงพ้นกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด มีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกําหนดเวลา 60 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2559 และนับถัดจากวันที่ 1 มีนาคม 2559 ต่อไปอีก 60 วัน เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ โดยไม่ได้ระบุต่อไปว่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ก็ไม่ถูกต้อง เนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงมีผลผูกพันคู่ความ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยที่ 2 นำทรัพย์สินจากกองมรดกของนางนวลอนงค์ มาชำระหนี้ต้นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2559 และนับถัดจากวันที่ 1 มีนาคม 2559 ไปอีก 60 วัน ทั้งนี้หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 แล้วเป็นจำนวนเท่าใด ให้นำมาหักออกจากความรับผิดของจำเลยที่ 2 เพียงนั้น กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ