โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๗๙, ๒๘๓ ทวิ, ๓๑๐, ๓๑๗
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง (เดิม) จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ ทวิ วรรคสอง, ๓๑๐ วรรคแรก, ๓๑๗ วรรคสาม ประกอบมาตรา ๘๓ และจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา ๘๖ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และฐานร่วมกันพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๔ ปี ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๒ ปี ๘ เดือน และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ ๕ ปี และปรับจำเลยที่ ๒ จำนวน ๗๐,๐๐๐ บาท รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๙ ปี จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๗ ปี ๘ เดือน และปรับ ๘๐,๐๐๐ บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๔ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๓ ปี ๑๐ เดือน และปรับ ๔๐,๐๐๐ บาท โทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ให้รอการลงโทษมีกำหนด ๒ ปี กับให้คุมความประพฤติจำเลยที่ ๒ โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๓ เดือน ต่อครั้ง ภายในกำหนด ๑ ปี และทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยที่ ๒ และพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด ๒๔ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากจำเลยที่ ๒ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ ๒ ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๙ วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา ๘๓ ฐานร่วมกันกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จำคุกคนละ ๒ ปี เมื่อรวมกับโทษของจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยทั้งสอง มีกำหนดคนละ ๗ ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๓ ปี ๖ เดือน สำหรับจำเลยที่ ๒ ไม่ลงโทษปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่คุมความประพฤติ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๒ ประการแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕ หรือไม่ โดยจำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ ๑ ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำความผิดและมีเจตนาร่วมกระทำความผิดและมีการแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ จึงไม่เป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานดังกล่าวนั้น เห็นว่า การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ นั้น จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึงต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ ให้ผู้เสียหายที่ ๑ ชวนจำเลยที่ ๑ ไปเที่ยวตลาดคลองถมเชียงม่วน แล้วจำเลยทั้งสองและผู้เสียหายที่ ๑ ร่วมเดินทางมาด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางจำเลยทั้งสองซื้อเบียร์มาดื่มด้วยกัน โดยจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ให้ผู้เสียหายที่ ๑ ดื่มเบียร์ จนผู้เสียหายที่ ๑ รู้สึกมึนเมา จากนั้นจำเลยที่ ๒ ลงจากรถไปซื้อถุงยางอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เมื่อผู้เสียหายที่ ๑ สอบถาม จำเลยที่ ๒ แจ้งว่าซื้อให้จำเลยที่ ๑ ไว้ใช้กับสาว หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่ได้พาผู้เสียหายที่ ๑ ไปตลาดคลองถมเชียงม่วน แต่กลับร่วมกันพาผู้เสียหายที่ ๑ เข้าพักในห้องพักของโรงแรมที่เกิดเหตุ โดยพักอยู่ห้องเดียวกันและนอนเตียงเดียวกัน ต่อมาขณะผู้เสียหายที่ ๑ หลับแล้วตื่นขึ้นมาปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ไม่อยู่ในห้องพักดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จึงลงมือกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ ๑ แต่ผู้เสียหายที่ ๑ หลบหนีเข้าไปในห้องน้ำ จนกระทั่งจำเลยที่ ๒ ไปเรียกผู้เสียหายที่ ๑ จึงยอมออกมา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ ๒ คบคิดกันกับจำเลยที่ ๑ มาก่อน โดยจำเลยที่ ๒ มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๑ มาโดยตลอด แม้จำเลยที่ ๒ จะไม่อยู่ในห้องพักดังกล่าวในขณะเกิดเหตุก็ตาม ก็เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ ๑ กระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายที่ ๑ จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานดังกล่าวแล้ว หาใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายที่ ๒ กับจำเลยทั้งสองเจรจาตกลงเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทน โดยจำเลยทั้งสองตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ ๒ เป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท และผู้เสียหายที่ ๒ แถลงว่า หากจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ตกลงกันก็ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป และจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ ๒ ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียหายที่ ๑ ได้ยอมความแทนผู้เสียหายที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้เยาว์แล้ว อันเป็นการยอมความกันตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓ (๕) และมาตรา ๕ (๑) เมื่อความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๑ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๒) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ และเนื่องจากเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ ๑ ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓ ประกอบมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๐ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๘๓ เสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๕