โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 3,419,191 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันหรือแทนกันรับรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืน ดำเนินการเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากรายการจดทะเบียนรถยนต์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยโจทก์ชดใช้เงินเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันทำสัญญาเช่าซื้อเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะคืนรถยนต์แก่จำเลยทั้งเก้า แต่จำเลยทั้งเก้าต้องร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะคืนรถยนต์
จำเลยทั้งเก้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 324,486 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 9 ชำระเงิน 363,963.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 เมษายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 9 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งเก้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ กับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายรถยนต์ ให้บริการซ่อม บำรุง และเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ ยี่ห้อเชฟโรเลต เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 โจทก์จองซื้อรถยนต์ ยี่ห้อเชฟโรเลต แบบแคปติวา ซึ่งเป็นรถยนต์ใหม่จากจำเลยที่ 1 โดยชำระเงินดาวน์เป็นเงิน 324,486 บาท และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 9 ในราคา 1,295,352 บาท ผ่อนชำระ 72 งวด งวดละ 17,991 บาท มีนางสาวนิตยา เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์นำรถยนต์พิพาทเข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง อ้างว่ารถยนต์พิพาทมีความผิดปกติ ครั้งสุดท้ายวันที่ 17 กรกฎาคม 2560 ขณะรถยนต์พิพาทใช้งานเป็นระยะทาง 33,778 กิโลเมตร โดยโจทก์จอดรถยนต์พิพาทไว้ที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 และนำกุญแจรถยนต์กลับไป จากนั้นโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 16 สิงหาคม 2560 บอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 โจทก์ตกลงมอบกุญแจรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 ไปตรวจสอบความผิดปกติของรถยนต์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 9 ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ต้องร่วมกันรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 9 ไม่ฎีกา โดยวางเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นเงิน 359,609.59 บาท ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ปัญหาว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 9 ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 3 และที่ 9 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่จำเลยที่ 9 แก้ฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ และจำเลยที่ 9 เป็นเพียงสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อเช่าซื้อจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่ารถยนต์พิพาทมีความชำรุดบกพร่องหรือไม่ กรณีต้องชั่งน้ำหนักและรับฟังพยานหลักฐานจากคู่ความทั้งสองฝ่ายหรือไม่ และพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องว่า หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ โจทก์นำรถยนต์พิพาทออกใช้งานแต่รถยนต์พิพาทเกิดความชำรุดบกพร่องโดยสาเหตุเกิดจากกระบวนการผลิตของจำเลยที่ 3 เนื่องจากเป็นรถยนต์ใหม่และโจทก์ใช้รถยนต์อย่างปกติ ถือว่ารถยนต์เสื่อมสภาพ เสียหาย ขาดมาตรฐานการผลิตและการค้า ไม่เป็นไปตามสัญญา จำเลยกับพวกต้องร่วมกันรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคและกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ส่วนจำเลยที่ 1 กับพวกให้การต่อสู้ว่า รถยนต์คันดังกล่าวมิได้เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและมีความชำรุดบกพร่องหรือมีสภาพดังที่โจทก์อ้าง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทที่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ หรือการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับรถยนต์พิพาท อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 กับพวกซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 จำเลยที่ 1 กับพวกจึงมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าว แต่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาว่ารถยนต์พิพาทมีความชำรุดบกพร่องและเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตามที่โจทก์อ้างหรือไม่ อย่างไร โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมเป็นฝ่ายต้องพิสูจน์ว่าตนได้รับความเสียหายจากสินค้าของจำเลยที่ 1 ผู้ประกอบการตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 6 ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงตกแก่โจทก์ที่ต้องพิสูจน์ก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับฟังว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเหตุว่าจำเลยที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ แต่พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จำเลยที่ 1 ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีโดยไม่จำต้องชั่งน้ำหนักคำเบิกความของพยานฝ่ายโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีจึงต้องวินิจฉัยต่อไปว่ารถยนต์พิพาทมีความชำรุดบกพร่องตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ขณะที่รถยนต์พิพาทใช้งานไปแล้วประมาณ 5,000 กิโลเมตร รถยนต์พิพาทมีไฟเตือนที่แผงหน้าปัดแสดงมาตรวัดและระบบไฟ ดับทั้งคัน ซึ่งเป็นความผิดปกติครั้งที่ 1 พนักงานของจำเลยที่ 1 ดำเนินการยกรถยนต์พิพาทไปตรวจเช็คและซ่อมที่ศูนย์บริการเชฟโรเลต จังหวัดเพชรบุรี โดยรื้อแผงหน้าปัดแสดงมาตรวัดออก แต่เมื่อซ่อมเสร็จปรากฏว่ายังมีไฟเตือนติด ๆ ดับ ๆ โจทก์นำรถยนต์พิพาทไปตรวจเช็คและซ่อมที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 แต่ได้รับแจ้งว่ารถยนต์พิพาทไม่มีปัญหาแต่ประการใด โจทก์จึงนำรถยนต์พิพาทกลับมาใช้ตามปกติ ครั้งที่ 2 รถยนต์พิพาทมีไฟเตือนเบรกจอดสว่างค้างอยู่ ช่างของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้วแจ้งว่าปรากฏรหัสปัญหาเกี่ยวกับระบบเบรกมือ แก้ไขโดยการลบรหัสในกล่องควบคุม แต่เมื่อโจทก์นำรถยนต์พิพาทกลับมาขับได้ประมาณ 10 กิโลเมตร ไฟเตือนเบรกจอดสว่างขึ้นอีก พนักงานของจำเลยที่ 1 นัดให้นำรถยนต์พิพาทมาตรวจเช็คในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้เปลี่ยนชุดเบรกจอด และนำรถยนต์พิพาทไว้ทดลองขับประมาณ 7 วัน ครั้งที่ 3 รถยนต์พิพาทมีอาการแตะเบรกเท้าแล้วเครื่องยนต์ดับขณะที่กำลังแล่นอยู่ โจทก์นำรถยนต์พิพาทเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 แต่ช่างของจำเลยที่ 1 แจ้งว่ารถยนต์พิพาทปกติ วันที่ 26 มิถุนายน 2560 รถยนต์พิพาทมีอาการแตะเบรกเท้าแล้วเครื่องยนต์ดับขณะที่กำลังแล่นอยู่ ช่างของจำเลยที่ 1 แจ้งว่าต้องเปลี่ยนชุดสายไฟเครื่องยนต์ ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง และแบตเตอรี่เสื่อม โดยนัดให้มาในวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 จำเลยที่ 1 ซ่อมรถยนต์พิพาทประมาณ 10 วัน โดยจำเลยที่ 3 ให้ช่างติดกล้องบันทึกข้อมูลการใช้รถยนต์ด้วย ครั้งที่ 4 วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 รถยนต์พิพาทมีอาการเครื่องยนต์อ่อนกำลัง เร่งเครื่องยนต์ได้เพียง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีไฟเตือนสัญลักษณ์รูปเครื่องยนต์ที่แผงหน้าปัดแสดงมาตรวัดสว่างค้างอยู่ โจทก์ใช้รถยนต์พิพาทตามปกติ และนำรถยนต์พิพาทเข้าตรวจเช็คระยะที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 ตลอดมา โดยอ้างส่งภาพถ่าย แผ่นซีดี รวมถึงใบสั่งซ่อมกับใบประวัติบริการเป็นพยานประกอบคำเบิกความ สนับสนุนให้เห็นว่ารถยนต์พิพาทมีไฟเตือนต่าง ๆ สว่างขึ้นที่แผงหน้าปัดแสดงมาตรวัด ตลอดจนมีความผิดปกติของเครื่องยนต์โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้ง ๆ ที่โจทก์ก็ใช้รถยนต์พิพาทตามปกติ และเมื่อพบความผิดปกติก็แจ้งให้จำเลยที่ 1 ตรวจสอบมาโดยตลอด อันเป็นการนำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากสินค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว โดยที่โจทก์หาจำต้องนำสืบช่างเทคนิคหรือวิศวกรเครื่องยนต์เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงตามอ้างตลอดจนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตรวจสอบรถยนต์พิพาทดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาแต่อย่างใดไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงดังกล่าวจำเลยที่ 1 กับพวกมีภาระการพิสูจน์ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น ส่วนที่นายทนงค์ ผู้จัดการศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ว่า วันที่ 28 ตุลาคม 2558 หลังจากโจทก์รับมอบรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 เดือน และใช้งานเป็นระยะทางมากกว่า 5,000 กิโลเมตร โจทก์แจ้งว่ารถยนต์พิพาทมีไฟเตือนที่แผงหน้าปัดแสดงมาตรวัดและระบบไฟดับทั้งคัน คือ ไฟหน้าดับ ไฟเลี้ยวไม่ติด นายทนงค์จึงติดต่อศูนย์บริการเชฟโรเลต จังหวัดเพชรบุรี นำรถยนต์พิพาทไปตรวจสอบ แต่ช่างไม่พบอาการตามที่โจทก์แจ้ง เพียงแต่พบว่ามีการเปลี่ยนวิทยุเดิมที่ติดตั้งจากโรงงานผลิตรถยนต์เป็นวิทยุที่จำเลยที่ 1 มอบให้เป็นสินค้าส่งเสริมการขาย โดยพนักงานของจำเลยที่ 1 นำไปเปลี่ยนที่ร้านประดับยนต์ก่อนจะส่งมอบรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ และช่างของศูนย์บริการดังกล่าวตรวจสอบแผงหน้าปัดแสดงมาตรวัด สายกราวด์ และสายวิทยุแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติที่อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการตามที่โจทก์แจ้ง นั้น ในเรื่องเดียวกันนี้นายสมบัติ พนักงานของจำเลยที่ 3 ตำแหน่งวิศวกรภาคสนามกลับเบิกความว่า ช่างของศูนย์บริการเชฟโรเลต จังหวัดเพชรบุรี ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อค้นหารหัสปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการผิดปกติตามที่โจทก์แจ้ง ก็พบว่ารถยนต์พิพาทขึ้นรหัสปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า แต่นายสมบัติไม่ได้เบิกความถึงรายละเอียดของรหัสปัญหาดังกล่าว คงเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ช่างของศูนย์บริการเชฟโรเลต จังหวัดเพชรบุรี พบรหัสปัญหาเกี่ยวกับระบบควบคุมแสงสว่าง ไฟเตือนที่แผงหน้าปัด โดยปรากฏตามเอกสารสรุปข้อเท็จจริงว่า รหัสปัญหาที่ศูนย์บริการเชฟโรเลต จังหวัดเพชรบุรีตรวจพบ คือ กุญแจอิมโมบิไลเซอร์ไม่ถูกต้อง การสื่อสารกับแผงมาตรวัดขาดไป วงจรสวิตช์เบรกจอด โมดูลควบคุมการสื่อสารบัส A ปิด นอกจากนี้ที่นายสมบัติยังเบิกความต่อไปว่า เมื่อช่างของศูนย์บริการเชฟโรเลต จังหวัดเพชรบุรี ตรวจสอบแผงหน้าปัดแสดงมาตรวัด สายกราวด์ และสายวิทยุแล้ว ไม่พบอาการผิดปกติตามที่โจทก์แจ้ง และหลังจากตรวจสอบเสร็จสิ้นรหัสปัญหาต่าง ๆ ก็หายไป อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 ได้นัดหมายให้โจทก์นำรถยนต์พิพาทเข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 พฤติการณ์บ่งชี้ว่าในขณะนั้นช่างของศูนย์บริการเชฟโรเลต จังหวัดเพชรบุรี ยังไม่สามารถหาสาเหตุของรหัสปัญหาดังกล่าวได้ และที่นายสมบัติกับนายทนงค์เบิกความต่อไปว่า วันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 โจทก์นำรถยนต์พิพาทเข้าตรวจสอบตามนัดหมาย แต่ช่างของจำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทขับทดสอบระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ก็ไม่พบอาการตามที่โจทก์แจ้ง จากนั้นวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 จึงทำการเปลี่ยนวิทยุเครื่องเดิมที่ติดตั้งมาจากโรงงานผู้ผลิตกลับเข้าไปแทนวิทยุที่จำเลยที่ 1 มอบให้เป็นสินค้าส่งเสริมการขาย ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ช่างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์พิพาททดสอบอีกครั้งระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ไม่พบความผิดปกติใด ๆ นั้น นายสมบัติและนายทนงค์ก็เบิกความถึงเหตุที่ทำการเปลี่ยนวิทยุว่า เนื่องจากสันนิษฐานว่าการติดตั้งวิทยุใหม่ที่ไม่ใช่วิทยุเครื่องเดิมที่ติดตั้งมาจากโรงงาน อาจติดตั้งไม่เรียบร้อยและส่งผลให้ระบบสายไฟฟ้าที่พ่วงต่อระหว่างตัวเครื่องวิทยุกับระบบสายไฟฟ้าของรถยนต์แปรปรวน แต่ไม่ได้ยืนยันว่าการติดตั้งวิทยุใหม่ดังว่าเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มีไฟเตือนและพบรหัสปัญหา ซึ่งเอกสารสรุปข้อเท็จจริงก็ระบุว่า จากการตรวจสอบไม่พบข้อบกพร่องที่ชัดเจนจึงทำการเปลี่ยนวิทยุให้ตรงรุ่นของรถ ส่งมอบรถให้ลูกค้าใช้งาน ที่นายทนงค์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หลังจากได้รหัสปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงทำการตรวจสอบหาสาเหตุ ซึ่งมีเพียงจุดเดียวที่พบ คือ ชุดสายไฟวิทยุมีการต่อพ่วงมา จึงยากที่จะรับฟังว่ารหัสปัญหาดังกล่าว มีสาเหตุมาจากชุดสายไฟวิทยุ เนื่องจากรหัสปัญหาที่ตรวจพบหายไปก่อนที่จะมีการเปลี่ยนวิทยุ และรถยนต์พิพาทเพิ่งมีไฟเตือนหลังจากที่ใช้งานไปแล้วประมาณ 5,000 กิโลเมตร ส่วนที่นายสมบัติและนายทนงค์เบิกความถึงความผิดปกติของรถยนต์พิพาทครั้งที่ 2 ว่า วันที่ 25 เมษายน 2560 ซึ่งผ่านมาเป็นเวลามากกว่า 1 ปี 5 เดือน นับแต่ที่แจ้งว่ารถยนต์มีความผิดปกติครั้งแรก และโจทก์ใช้รถยนต์พิพาทไปเป็นระยะทางมากกว่า 25,000 กิโลเมตร โจทก์แจ้งว่ารถยนต์พิพาทมีไฟเตือนระบบควบคุมเบรกจอดกระพริบ ติดค้างบางครั้ง และไฟเตือนบริเวณแผงหน้าปัดแสดงมาตรวัดสว่างค้างทุกดวง ช่างของจำเลยที่ 1 จึงตรวจสอบขั้วปลั๊กชุดควบคุมเบรกจอดรวมทั้งทดสอบขับรถยนต์พิพาทตลอดจนใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตรวจหารหัสความผิดปกติ แต่ก็ไม่พบความผิดปกติ แต่พบว่าโจทก์เปลี่ยนวิทยุเครื่องใหม่ การเปลี่ยนวิทยุเครื่องใหม่โดยนำไปติดตั้งเองดังกล่าวมักจะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าของรถยนต์ เนื่องจากสายไฟต่าง ๆ ของวิทยุที่ต่อพ่วงเข้ากับระบบไฟฟ้าของรถยนต์มักจะต่อไม่เรียบร้อย อาจจะทำให้ระบบไฟฟ้าของรถยนต์แปรปรวนตามมาได้นั้น ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากสรุปการตรวจสอบจากวิศวกรภาคสนามว่า ในวันที่ 25 เมษายน 2560 โจทก์นำรถยนต์เข้าแจ้งซ่อม จำเลยที่ 1 ทำการตรวจสอบพบรหัสปัญหา U0402, C056E และ C0558 ซึ่งเป็นรหัสปัญหาเดียวกับที่ระบุในช่องรายการแจ้งซ่อมใบสั่งซ่อมลงวันที่ 25 เมษายน 2560 โดยรหัสปัญหา C056E และ C0558 มีการระบุว่าเป็นชุดควบคุมเบรกจอด ส่วนในช่องการแก้ไข ระบุว่าจากการตรวจเช็ค ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ไม่พบความผิดปกติ ให้โจทก์ใช้รอดูอาการ และท้ายที่สุดก็มีการเปลี่ยนโมดูลควบคุมเบรกจอดในวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทำการเปลี่ยนวิทยุที่อ้างว่าอาจทำให้ระบบไฟฟ้าของรถยนต์แปรปรวนกลับไปเป็นวิทยุเดิมที่ติดตั้งจากโรงงานผู้ผลิต และที่นายสมบัติเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนโมดูลควบคุมเบรกจอด เนื่องจากมีไฟเตือนโมดูลขึ้นมา แต่กลับเบิกความต่อไปว่า มีการถอดโมดูลมาตรวจสอบภายในว่าชุดกลไกติดขัดหรือเสียหายหรือไม่ แต่ไม่พบความเสียหาย และจะไม่มีการประกอบกลับเข้าไปใหม่ จึงเปลี่ยนโมดูลเบรกจอดใหม่ให้แก่โจทก์ ซึ่งหากโมดูลควบคุมเบรกจอดไม่เสียหายดังอ้าง แสดงว่ารหัสปัญหาที่ตรวจพบมีสาเหตุมาจากส่วนอื่น แต่โจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ถามค้านว่า หลังจากที่เปลี่ยนชุดควบคุมเบรกจอดแล้ว ไม่ปรากฏไฟเตือนอีก ส่วนที่นายสมบัติและนายทนงค์เบิกความถึงความผิดปกติครั้งที่ 3 ว่า วันที่ 13 มิถุนายน 2560 โจทก์แจ้งว่าเครื่องยนต์ดับขณะแตะเบรกและระบบเซ็นทรัลล็อกปลดล็อกเอง ช่างของจำเลยที่ 1 และวิศวกรภาคสนามของจำเลยที่ 3 ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตรวจสอบโดยละเอียด แต่ไม่พบรหัสและอาการความผิดปกติ แต่พบว่าโจทก์เปลี่ยนวิทยุเครื่องเดิมที่ติดตั้งจากโรงงานกลับเข้าไปใหม่อีกครั้ง แต่การติดตั้งและจัดเก็บสายไฟไม่เรียบร้อย ช่างของจำเลยที่ 1 จึงจัดเก็บสายไฟและประกอบวิทยุให้เรียบร้อยตามเดิม ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์ไปใช้งานโดยไม่ได้มีการแก้ไขซ่อมแซมใด ๆ แต่นัดหมายให้มาติดตามผลการใช้งานและตรวจสอบอีกครั้งในวันที่ 26 มิถุนายน 2560 ซึ่งในวันดังกล่าวมีการตั้งสมมติฐานว่าหากรถยนต์พิพาทมีอาการผิดปกติตามที่โจทก์แจ้งมาจริง อุปกรณ์ที่น่าจะมีผลทำให้เกิดอาการ คือ อุปกรณ์ชุดสายไฟหรือปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง แต่จากการตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ มีสภาพที่เกิดจากการใช้งานตามปกติ ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ แต่เพื่อให้สามารถตรวจสอบยืนยันได้อย่างชัดเจนว่ารถยนต์พิพาทมีอาการตามที่โจทก์แจ้งหรือไม่ จึงติดตั้งอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการขับขี่รถยนต์ หากรถยนต์พิพาทมีอาการผิดปกติจะสามารถนำข้อมูลมาพิจารณาวินิจฉัยและแก้ไขต่อไปได้ และโจทก์รับรถยนต์พิพาทกลับไปใช้งานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 นั้น หากข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่เบิกความ กรณีก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องเปลี่ยนอะไหล่ใด ๆ ให้แก่โจทก์ แต่ความปรากฏว่าวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 จำเลยที่ 1 เปลี่ยนชุดปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงในถังและชุดสายไฟเครื่องยนต์ให้แก่โจทก์ ทั้งที่อ้างว่าจากการตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ มีสภาพที่เกิดจากการใช้งานตามปกติ ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ ซึ่งนายทนงค์และนายสมบัติก็เบิกความเพียงว่า เพื่อความสบายใจของโจทก์และเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เมื่อตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ นายสมบัติกลับเบิกความว่า ชุดสายไฟควบคุมระบบเครื่องยนต์จะมีปลั๊กและข้อต่อต่าง ๆ ที่ยึดกับอุปกรณ์ตัวเครื่องยนต์ เมื่อมีการถอดตรวจสอบแล้วไม่พบข้อบกพร่อง การที่จะนำกลับไปติดตั้งอีกครั้งหนึ่งก็มีโอกาสที่อุปกรณ์เสียหายได้ จึงทำการเปลี่ยนชุดสายไฟใหม่ให้แก่โจทก์ ซึ่งจะเป็นลักษณะเดียวกันกับชุดปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง แต่สรุปการตรวจสอบจากวิศวกรภาคสนามกลับระบุว่า ตรวจสอบชุดสายไฟเครื่องยนต์มีสายพับหักงอหลายเส้น ตรวจสอบ Fuel Pump มีรอยไหม้ ... สุดท้ายที่นายสมบัติและนายทนงค์เบิกความถึงความผิดปกติครั้งที่ 4 ว่า วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 โจทก์แจ้งว่ามีไฟเตือนบริเวณแผงแสดงมาตรวัดและเครื่องยนต์อ่อนกำลังสามารถขับได้เพียง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่างของจำเลยที่ 1 ตรวจพบรหัส DTC P0487 ซึ่งเกี่ยวข้องกับ EGR Valve เป็นอุปกรณ์ที่มีหน้าที่ควบคุมระบบการหมุนเวียนก๊าซคาร์บอนภายในเครื่องยนต์ โดยนายสมบัติเบิกความเพิ่มเติมว่า ไฟเตือนเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับระบบควบคุมมลพิษหรือไอเสียที่ออกจากเครื่องยนต์ ไอเสียในขณะนั้นอาจมีสภาวะที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่ออกแบบไว้ ซึ่งวิศวกรหรือช่างก็จะตรวจหาสาเหตุต่อไป โดยมีหลายสาเหตุ เช่น คุณภาพน้ำมัน ตัวอุปกรณ์ และปลั๊กสายไฟต่าง ๆ นั้น เบื้องต้นก็บ่งชี้ว่ารถยนต์พิพาทมีความผิดปกติเกิดขึ้นในเรื่องดังกล่าว ส่วนที่อ้างต่อไปว่าระบบดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ และมีการถอดกล่องบันทึกการทำงานของรถยนต์ส่งให้วิศวกรของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ตรวจหาความผิดปกติและสาเหตุ แต่โจทก์ไม่ยินยอมให้ดำเนินการตรวจสอบใด ๆ อีก และจอดรถยนต์พิพาทไว้ที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 โดยนำกุญแจรถกลับไปด้วย จึงไม่สามารถตรวจสอบว่ารถยนต์พิพาทมีอาการผิดปกติตามที่โจทก์แจ้งหรือไม่ ต่อมาวิศวกรของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ตรวจสอบข้อมูลการขับรถยนต์ที่บันทึกไว้แล้ว ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทไม่มีอาการเหยียบเบรกแล้วเครื่องยนต์ดับตามที่โจทก์แจ้ง โดยสาเหตุที่เครื่องยนต์ดับเกิดจากการปิดสวิตช์เครื่องยนต์ตามปกติ ไม่มีอาการผิดปกติใดเกิดกับเครื่องยนต์นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่มีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นคนกลางมาเบิกความยืนยันสนับสนุนว่าระบบดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อระบบขับเคลื่อนของรถยนต์ ทั้งนายสมบัติก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นายสมบัติได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่ารถยนต์พิพาทมีไฟเตือนตามที่ปรากฏในภาพถ่าย ซึ่งคู่มือการใช้รถ หน้า 5 - 13 ระบุว่า หากไฟแสดงการทำงานดังกล่าวปรากฏขึ้น แสดงว่าเกิดข้อบกพร่องหรือการทำงานผิดปกติเกิดขึ้น ต้องได้รับการตรวจสอบแก้ไข ซึ่งแสดงว่าระบบไอเสียบกพร่องก็จะเกิดความเสียหายแก่ระบบเครื่องยนต์เนื่องจากระบบเครื่องยนต์กับระบบไอเสียจะต้องสัมพันธ์กัน ส่วนผลการตรวจสอบข้อมูลการขับรถยนต์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ไม่มีบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวข้องโดยตรงมาเบิกความยืนยันรับรอง และที่นายสมบัติกับนายทนงค์เบิกความว่า วันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นนัดไกล่เกลี่ย โจทก์ยินยอมมอบกุญแจและรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ตรวจสอบ ระหว่างวันที่ 5 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ช่างของจำเลยที่ 1 และวิศวกรภาคสนามของจำเลยที่ 3 ตรวจสอบเครื่องยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่พบรหัสปัญหาใด จึงตรวจสอบโดยอ้างอิงรหัสปัญหาที่พบครั้งสุดท้ายคือ DTC P0487 ซึ่งเกี่ยวข้องกับ EGR Valve โดยสมมติสถานการณ์ที่อาจเป็นสาเหตุของการปรากฏรหัส ด้วยการถอดปลั๊ก EGR Valve ออก แล้วขับทดสอบเป็นระยะทาง 50 กิโลเมตร พบว่าปกติ หลังจากนั้นจึงเสียบปลั๊ก EGR Valve กลับจุดเดิม แล้วขับทดสอบอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่ารถยนต์พิพาทสามารถขับและเร่งความเร็วได้ตามปกติ เครื่องยนต์ไม่อ่อนกำลังและดับตามที่โจทก์แจ้ง ไม่ปรากฏรหัส DTC P0487 แต่อย่างใด และวันที่ 14 กันยายน 2561 นายทนงค์ได้ขับรถยนต์พิพาททดสอบอีกครั้งเป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร โดยไม่พบอาการผิดปกติตามที่โจทก์แจ้ง ตามแผ่นซีดีและภาพถ่ายนั้น แม้ขณะที่มีการขับรถยนต์พิพาททดสอบจะไม่พบความผิดปกติดังที่โจทก์แจ้ง และนายสมบัติเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ถามติงว่า เคยมีกรณีที่พบรหัสปัญหา แต่รหัสปัญหาดังกล่าวหายไปเอง โดยที่ไม่ได้ทำการซ่อม เนื่องจากเป็นระบบที่แก้ไขด้วยซอฟต์แวร์ เช่น ค่าการทำงานออกนอกช่วงไฟก็จะแสดงขึ้นมา แต่เมื่อใช้งานต่อไปก็จะเกิดการเรียนรู้รีเซ็ตด้วยระบบรถยนต์ และปัญหานั้นไม่เกิดขึ้นมาอีก ก็จะสามารถใช้งานได้ ไฟและรหัสปัญหาก็จะไม่แสดงเตือนอีก แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ก็ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันสนับสนุน จึงไม่อาจนำมารับฟังว่าการที่รหัสปัญหาหายไปจะเป็นไปดังที่นายสมบัติเบิกความโดยไม่ต้องมีการแก้ไขอย่างใด ๆ รถยนต์พิพาทจะไม่เกิดปัญหาความผิดปกติในเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอีกเป็นแน่ เมื่อรถยนต์พิพาทมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงเวลาเพียง 2 ปีเศษ ทั้ง ๆ ที่เป็นรถยนต์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งที่ 4 เกิดความผิดปกติในขณะที่รถยนต์ใช้งานมาเพียง 33,778 กิโลเมตร และต่อมารหัสปัญหาก็หายไปโดยไม่ได้ทำการแก้ไข โดยเหตุที่โจทก์ไม่ยินยอมให้ตรวจสอบเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2560 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิเสธที่จะออกหนังสือรับรองว่าจะไม่เกิดอาการผิดปกติใด ๆ ขึ้นอีก หากยังคงมีอาการเช่นเดิมจะให้จำเลยที่ 1 ซื้อรถยนต์คืนหรือเปลี่ยนรถยนต์ใหม่แทน โจทก์จึงจอดรถยนต์พิพาทไว้ที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 โดยนำกุญแจรถยนต์กลับไปตามที่นายทนงค์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ถามติง กรณีทำให้โจทก์ไม่อาจใช้รถยนต์พิพาทได้สมตามความมุ่งหมาย ตรงกันข้ามกลับกลาย เป็นภาระที่จะต้องนำเข้าศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 เพื่อตรวจสอบและแก้ไขหลายครั้งหลายหน ซึ่งหากความผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างที่รถยนต์กำลังแล่นอยู่กรณีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ตลอดจนทรัพย์สินเสียหายได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รถยนต์พิพาทมีความชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่อาจดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิมได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ 9 จัดการแก้ไขความชำรุดบกพร่องก่อน และหลังจากที่มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโจทก์ชำระค่าเช่าซื้องวดเดือนกันยายน 2560 และตุลาคม 2560 ให้แก่จำเลยที่ 9 อีก ตามที่จำเลยที่ 9 แก้ฎีกา และโจทก์ไม่ได้นำรถยนต์พิพาทไปส่งมอบคืนให้แก่จำเลยที่ 9 ผู้ให้เช่าซื้อ ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 บัญญัติไว้ แต่การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ไปยังจำเลยที่ 9 ด้วยเหตุว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อมีความชำรุดบกพร่อง แต่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ และฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยที่ 9 รับรถยนต์พิพาทคืนไป โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาในประเด็นก่อนว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อมีความชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่อาจดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขให้กลับมาใช้งานได้ดีดังเดิมได้ โดยไม่เห็นประจักษ์ในขณะส่งมอบให้แก่โจทก์ กรณีถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยเหตุอันเกิดแต่จำเลยที่ 9 เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยที่ 9 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้ให้เช่าซื้อมีหน้าที่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพสมบูรณ์เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 548 สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 เป็นอันเลิกกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยมาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายอีก 1,019,191 บาท กับค่าเสียหายเพื่อการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นก่อนแล้วว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 9 เป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 สำหรับเงินดาวน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์มิใช่ค่าเสียหายอันสืบเนื่องมาจากรถยนต์ที่เช่าซื้อมีความชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 1 คู่สัญญาฝ่ายที่รับเงินไว้ จึงต้องคืนเงินดาวน์ 324,486 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องระยะเวลาคิดดอกเบี้ย ส่วนค่าเบี้ยประกันภัย 31,764 บาท นั้น ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการประกันภัยว่า โจทก์ชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัท ท. เป็นการประกันภัยคุ้มครองสินเชื่อ นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ซึ่งจำนวนเงินเอาประกันภัยจะเปลี่ยนไปในแต่ละเดือนตามตารางข้อกำหนดการจ่ายเงินตามกรมธรรม์ โดยผู้รับประกันภัยจะจ่ายผลประโยชน์เท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัยของเดือนที่เสียชีวิตหรือเริ่มต้นทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงให้แก่ผู้รับประโยชน์หลักซึ่งก็คือจำเลยที่ 9 ไม่เกินจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ ณ เวลานั้น ถ้ามีส่วนที่เหลือจะจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์รอง และยังมีการเอาประกันภัยสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองอุบัติเหตุกลุ่ม ซึ่งแม้โจทก์จะทำสัญญาประกันภัยฉบับดังกล่าวอันเนื่องมาจากมีการขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กับจำเลยที่ 9 แต่ในขณะที่สัญญาเช่าซื้อยังมีผลผูกพันอยู่โจทก์ก็ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองอุบัติเหตุซึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ด้วย และหากการประกันภัยยังไม่สิ้นสุดตามเงื่อนไขของสัญญาโจทก์ก็ยังคงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของสัญญาประกันภัยต่อไปได้แม้ว่าสัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันแล้วก็ตาม ส่วนเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 30,117 บาท นั้น โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ปีแรก แต่ปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อตกลงการขายในส่วนของรายการอุปกรณ์ของแถมว่า มีประกันภัยชั้น 1 ด้วย ซึ่งโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 9 ถามค้านว่า รายการอุปกรณ์ของแถมรวมประกันภัยชั้น 1 ด้วย แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ปีแรกเอง ส่วนค่าบริการและค่าบำรุงรักษาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแบบเหมาจ่าย 3 ปี 30,000 บาท นั้น โจทก์ไม่นำสืบพยานหลักฐานสนับสนุนว่า ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 คงเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 9 ถามค้านเพียงว่า โจทก์ชำระเงินค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งปรากฏตามบันทึกข้อตกลงการขายว่า มีรายการของแถมเป็นค่าบำรุงรักษาตามระยะทาง 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ไม่รวมอะไหล่สิ้นเปลือง ซึ่งหากโจทก์จะต้องชำระค่าน้ำมันเครื่องในการเช็คระยะ 15,000 กิโลเมตร และ 30,000 กิโลเมตร ตามใบประวัติบริการ กรณีก็เป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ชอบที่จะต้องรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินทั้งสามรายการดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนค่าเช่าซื้อที่โจทก์ชำระไป 503,963.97 บาท ตามที่จำเลยที่ 9 ตามนำสืบนั้น จำเลยที่ 9 ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ แม้ค่าเช่าซื้อนั้นจะรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ด้วย เนื่องจากเป็นจำนวนที่โจทก์ได้ชำระไปจริง อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาดังกล่าวโจทก์ก็ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเรื่อยมา แม้จะมีบางช่วงเวลาที่ต้องนำรถยนต์พิพาทเข้าตรวจสอบและแก้ไขที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 1 จัดรถยนต์สำรองให้ใช้แทนตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบมา โจทก์จึงต้องชำระเงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 9 ตามมาตรา 391 วรรคสาม แต่ที่จำเลยที่ 9 นำสืบว่า รถยนต์ยี่ห้อ แบบ และรุ่นปีเดียวกับรถยนต์พิพาท มีราคาให้เช่าวันละ 1,800 บาท ถึง 2,000 บาท โดยอ้างส่งราคาค่าเช่ารถยนต์เป็นพยานนั้น ค่าเช่าตามเอกสารดังกล่าวเห็นได้อยู่ในตัวว่าผู้ให้เช่าย่อมจะต้องคำนวณรวมเอาผลประโยชน์จากการให้เช่าตลอดจนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นรวมเข้าไปด้วย จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงได้ เมื่อพิจารณาจากค่าเช่าซื้อที่โจทก์ต้องชำระในแต่ละงวด ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่จำเลยที่ 9 เป็นเงินเดือนละ 6,000 บาท โดยมีกำหนดเวลา 35 เดือน ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องระยะเวลาดังกล่าว รวมเป็นเงินค่าใช้ทรัพย์ 210,000 บาท โดยจำเลยที่ 9 จะยื่นคำแก้ฎีกาว่าโจทก์ต้องชำระค่าขาดประโยชน์จนกว่าโจทก์จะนำรถยนต์พิพาทมาคืนแก่จำเลยที่ 9 หาได้ไม่ เมื่อนำค่าใช้ทรัพย์ที่กำหนดไปหักออกจากค่าเช่าซื้อที่จะต้องคืนแก่โจทก์แล้ว คงเหลือที่จำเลยที่ 9 ต้องคืนแก่โจทก์ 293,963.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ไม่อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องระยะเวลาการคิดดอกเบี้ย ส่วนค่าเสียหายจากการผิดสัญญา 100,000 บาท และค่าเดินทางนำรถยนต์พิพาทเข้าซ่อมที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการนำรถยนต์พิพาทเข้าตรวจสอบและแก้ไขข้อชำรุดบกพร่องที่ศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 หลายครั้ง ในระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ ทั้ง ๆ ที่เป็นรถยนต์ใหม่ จึงเห็นได้อยู่ในตัวว่าโจทก์ต้องเดินทางไปและกลับจากศูนย์บริการของจำเลยที่ 1 และได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าค่าเสียหายจากการผิดสัญญาและค่าเดินทางนี้เป็นจำนวนเท่าใดแน่ ศาลฎีกาก็มีอำนาจกำหนดให้ตามสมควรได้ โดยเห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 รับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์เดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน นั้น เป็นค่าเสียหายที่ซ้ำซ้อนกับค่าเสียหายจากการผิดสัญญา และศาลฎีกาก็กำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาและค่าเดินทางให้เป็นจำนวนพอสมควรแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 จึงไม่ต้องรับผิดค่าขาดประโยชน์นี้อีก สุดท้ายที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ชำระค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เป็นเงิน 2,000,000 บาท นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่กำหนดได้ตามที่เห็นสมควร หากการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน แต่จากข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 นำสืบมาจะเห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็ดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุของความผิดปกติตามที่โจทก์แจ้งเพื่อแก้ไขมาโดยตลอด หาได้ปฏิเสธไม่รับผิดชอบแต่อย่างใดไม่ โดยทำการเปลี่ยนอะไหล่หลายรายการโดยไม่เรียกค่าใช้จ่ายจากโจทก์ ตลอดจนจัดรถยนต์สำรองให้ใช้แทนในระหว่างตรวจสอบและแก้ไข และยังเสนอขยายการรับประกันคุณภาพรถยนต์เป็นกรณีพิเศษจากเดิม 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร แล้วแต่กรณีใดถึงก่อน เป็น 4 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร แล้วแต่กรณีใดถึงก่อน พฤติการณ์ที่ได้ความจึงยังไม่สมควรที่จะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 รับผิดจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบัญญัติให้ใช้ข้อความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี...และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี...และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 6 และมาตรา 7 บัญญัติให้ใช้มาตรา 7 และมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมนี้แก่การคิดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกา ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 อัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดจึงต้องบังคับตามมาตรา 7 และมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในส่วนของเงินดาวน์ 324,486 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ในส่วนของค่าเช่าซื้อ 293,963.97 บาท และค่าเสียหายจากการผิดสัญญา 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องถึงจนวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตามมาตรา 7 ของต้นเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อและในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเสียหายจากการผิดสัญญานับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ นอกจากนี้โจทก์เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงในการยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 18 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลเห็นว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคู่ความทั้งสองฝ่าย ให้ศาลพิพากษาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโดยสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งนั้นชำระต่อศาลในนามของผู้บริโภคซึ่งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้บริโภคนั้นได้รับยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามที่เห็นสมควร แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ฝ่ายจำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายจำเลยนำเงินค่าขึ้นศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้นในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์มาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข และคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีจำนวน 300,000 บาท ซึ่งต้องชำระค่าขึ้นศาล 6,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ชำระมา 7,068 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินดาวน์ 324,486 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 9 ชำระเงินค่าเช่าซื้อ 293,963.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 เมษายน 2561) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยของเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอและให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 เมษายน 2561) ถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปนั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใดก็ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเปลี่ยนไปบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 9 นำเงินค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่โจทก์ได้รับยกเว้นมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในศาลชั้นต้น และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 9 นำเงินค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์ได้รับยกเว้นมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเกินมา 1,068 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ