โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 265, 266, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 2 ปี และปรับจำเลยทั้งสาม (ที่ถูก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4) คนละ 81,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้โจทก์มีหุ้น 10,000 หุ้น ในบริษัทจำเลยที่ 2 ตามเดิมแล้ว อันเป็นการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด จึงลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยทั้งสาม (ที่ถูก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4) คนละ 54,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ยก
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ลงโทษปรับ 9,000 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 6,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของจำเลยที่ 2 โจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 หุ้น เป็นหุ้นหมายเลข 85001 ถึงหมายเลข 95000 ต่อมาในปี 2561 โจทก์ตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 2 โดยปรากฏหมายเลขหุ้นที่เคยเป็นของโจทก์ไปปรากฏอยู่ในชื่อของจำเลยที่ 1 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวจึงเป็นเท็จ จากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นดังกล่าวไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2562 ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวน 10,000 หุ้น ตามเดิม แล้วนำไปยื่นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โดยในส่วนคดีของจำเลยที่ 1 ได้ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ใช่เจ้าของหุ้นที่แท้จริงเพราะโจทก์ไม่ได้ชำระราคาค่าหุ้น โดยการชำระราคาค่าหุ้นต้องชำระด้วยเงินเท่านั้นไม่สามารถใช้ค่าหุ้นด้วยทรัพย์สินอื่นได้ แต่โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้น โจทก์ไม่ได้รับมอบใบหุ้นและไม่เคยเข้ามีส่วนร่วมในกิจการของจำเลยที่ 2 เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น การรับรู้กำไรและขาดทุน ในปัญหานี้โจทก์นำสืบโดยมีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ในปี 2539 โจทก์และพันตำรวจโทวิเชียรได้ลงทุนทำธุรกิจการขุดทรายในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์แม่ยม ต่อมานายสุชน บิดาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ชักชวนโจทก์และพันตำรวจโทวิเชียรเข้าร่วมลงทุนทำธุรกิจบ่อทรายโดยตกลงตั้ง จำเลยที่ 2 ขึ้นมาและให้โจทก์พร้อมด้วยพันโทวิเชียรเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทของจำเลยที่ 2 โจทก์และพันตำรวจโทวิเชียรตกลงร่วมธุรกิจกับนายสุชนโดยนำที่ดินตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์มาลงทุนโดยถือหุ้นกันคนละ 10,000 หุ้น ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 2 ก็ได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินโดยนำที่ดินที่โจทก์และพันตำรวจโทวิเชียรนำไปลงหุ้นไปจำนองเป็นหลักประกันเงินกู้ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1119 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติไว้ว่า "หุ้นทุก ๆ หุ้นจำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221" วรรคสองบัญญัติว่า "ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่" แต่ก็มิได้มีบทบัญญัติใดบัญญัติว่าหากมิได้ดำเนินการตามมาตรา 1119 แล้วจะทำให้การเป็นผู้ถือหุ้นเป็นโมฆะหรือกลับกลายเป็นไม่เป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ดังนั้นบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงมีผลแต่เพียงว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวยังมิได้ใช้เงินเป็นค่าหุ้นแก่บริษัทเท่านั้น กรรมการจึงสามารถที่จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทเสียเมื่อใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1120 ถึง 1124 ทั้งตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในขณะที่นายสุชนยังมีชีวิตอยู่ นายสุชนก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นส่งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพิษณุโลก ดังนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า โจทก์ได้ชำระเงินค่าหุ้นแล้วหรือไม่และโดยวิธีใด เพราะไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการเรียกเงินค่าหุ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ไม่เคยได้รับมอบใบหุ้น ไม่เคยเข้ามีส่วนได้เสียในบริษัท เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น การรับรู้ส่วนได้เสียของบริษัท เช่น กำไร ขาดทุน นั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้ออกใบหุ้นให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ไม่ไปรับหรือไม่ จำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือเชิญโจทก์ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแล้วหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจะว่าโจทก์ไม่ได้รับมอบใบหุ้นและไม่เข้ามามีส่วนได้เสียของบริษัทหาได้ไม่ จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องในความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการต่อมาว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) เป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงข้อความเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นหรือยินยอมให้ลงข้อความเท็จในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยจำเลยที่ 3 มีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ในปัญหานี้เห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2.1 ที่บรรยายว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น โจทก์จะมิได้บรรยายเจตนาพิเศษมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่ต่อมาในข้อ 2.3 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องโดยชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 และฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำการหรือยินยอมให้มีการปลอมบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามฟ้องข้อ 2.1 เพื่อลวงโจทก์ให้ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 แล้ว ดังนี้ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จหรือไม่ ในปัญหานี้จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ทราบและไม่มีส่วนรู้เห็นในการแก้ไขรายชื่อผู้ถือหุ้นของโจทก์จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ขณะที่นายสุชนมีชีวิตอยู่นายสุชนเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 3 และที่ 4 และนางนิตยาไม่เคยรู้จักโจทก์มาก่อน เนื่องจากโจทก์ไม่เคยเข้าประชุมเพื่อติดตามสอบถามถึงผลประกอบการของจำเลยที่ 2 นางนิตยามีหน้าที่ดูแลจัดการเอกสารต่าง ๆ ของจำเลยที่ 2 แทนนายสุชน หลังจากนายสุชนถึงแก่ความตายแล้วนางนิตยาเป็นผู้จัดทำงบการเงินย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2559 จึงได้นำหุ้นของโจทก์รวมเข้ากับหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยนางนิตยามิได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทราบ และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้สั่งการหรือรู้เห็นให้นางนิตยาดำเนินการ โดยต่อมาเมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็ได้สั่งการให้นางนิตยาดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามเดิมทันทีก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้ ในปัญหานี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 นำสืบโดยมีนางนิตยาเป็นพยานเบิกความว่า เป็นผู้สั่งการให้พนักงานฝ่ายบัญชีของจำเลยที่ 2 เป็นผู้พิมพ์บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยย้ายหุ้นของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปรึกษาผู้ใดเพราะในปี 2539 นายสุชนเรียกให้นางนิตยาไปพบและจดบันทึกตามคำบอกของนายสุชนว่า นายสุชนมีหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 2 จำนวนเท่าใด แต่ไม่ปรากฏชื่อโจทก์ในรายการที่นายสุชนให้บันทึก นางนิตยาจึงเข้าใจว่าโจทก์ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 2 จึงแก้ไขเปลี่ยนแปลงหุ้นด้วยตนเองไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทราบ เห็นว่า หลังจากนายสุชนถึงแก่ความตายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 การที่นางนิตยาซึ่งเป็นลูกจ้างทำบัญชีให้แก่นายสุชนแม้จะเป็นผู้มีความใกล้ชิดนายสุชนและนายสุชนไว้วางใจก็ตาม แต่เมื่อนายสุชนถึงแก่ความตายแล้วการที่นางนิตยาจะทำการใดเกี่ยวกับบริษัทย่อมจะต้องสอบถามและขอความเห็นชอบจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการก่อน นางนิตยาซึ่งเป็นแต่เพียงลูกจ้างย่อมที่จะไม่กล้ากระทำการใดโดยลำพัง แม้การเปลี่ยนแปลงบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นโดยการนำหุ้นที่โจทก์เคยถืออยู่ไปอยู่ในชื่อของจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม แต่ก็น่าเชื่อว่านางนิตยาจะต้องได้รับคำสั่งหรือความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เสียก่อน เพราะจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะต้องเป็นผู้ลงลายมือชื่อส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นนี้ไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นำสืบมาดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 สั่งการหรือยินยอมให้นางนิตยาทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเท็จ มีความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีเจตนาในการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานหรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้มีเจตนาที่จะแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ส่วนจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ ในการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นในการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น แต่ได้ลงนามแจ้งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยขาดความละเอียดรอบคอบในการตรวจเอกสารก่อนลงลายมือชื่อเท่านั้น จำเลยที่ 3 มิได้มีเจตนาที่จะแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจึงไม่มีความผิด ในปัญหานี้ จำเลยที่ 3 เบิกความว่า ได้รับมอบหมายจากนายสุชนให้เป็นกรรมการบริษัทต่าง ๆ แต่ที่ดูแลบริหารงานในทางปฏิบัติจริง ๆ คือ โรงแรมจำนวน 3 แห่ง ส่วนจำเลยที่ 4 เบิกความว่า ผู้ที่ดูแลกิจการแทนนายสุชน คือ นางสาวณัฐทรัชต์ ซึ่งเป็นน้องสาวของจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 4 รับหน้าที่บริหารวิทยาลัยเทคโนโลยี บ. ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน เห็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่างเป็นนักธุรกิจบริหารกิจการโรงแรมและวิทยาลัยเทคโนโลยีซึ่งเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมาก ต่างกับกิจการบ่อทรายของจำเลยที่ 2 น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้ขั้นตอนในการส่งงบดุลและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นอย่างดี จำเลยที่ 3 และที่ 4 ย่อมทราบดีว่าเมื่อแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นแล้วจะต้องนำส่งไปยังทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทพร้อมกับงบดุลของบริษัท เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้สั่งการหรือรู้เห็นยินยอมให้มีการแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและเป็นผู้ลงนามส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีเจตนาในการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทซึ่งเป็นเจ้าพนักงานแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 กระทำในฐานะกรรมการผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน