โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 509,740 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 144,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 126,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้นำเงิน 15,000 บาท ไปหักชำระดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินไปจากโจทก์ 126,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยภายในวันที่ 13 มีนาคม 2553 หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระดอกเบี้ยเกิน 1 ปี ยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้าเป็นต้นเงิน และยอมเสียดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โดยชำระเงินให้โจทก์เพียง 15,000 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยปีแรก จำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงิน 126,000 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญากู้ ข้อ 3 วรรคสาม ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งปี ผู้กู้ยินยอมให้ทบจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้าเป็นต้นเงินในวันที่ครบกำหนดหนึ่งปีนั้น และผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยในเงินต้นจำนวนใหม่ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหนึ่งปีตลอดไปในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น" จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมได้ตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคหนึ่ง และไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง และข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่า ต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวหาเป็นโมฆะไม่ ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดแล้วก็ตาม ดังนั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2554 เป็นต้นไปตามฟ้อง แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลง เป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียว ชอบแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 144,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ