โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนไถ่ที่ดินที่ขายฝากคืนแก่โจทก์ โดยให้จำเลยรับเงินสินไถ่ 1,872,000 บาท หากจำเลยไม่จดทะเบียนไถ่ให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 9,188.40 บาท และค่าเสียหายอีกวันละ 141.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะไถ่ถอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 โจทก์ทำสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 36230 และ 53279 ซึ่งเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ไว้ต่อจำเลย กำหนดสินไถ่ 1,872,000 บาท และในระหว่างขายฝากมีการขยายกำหนดไถ่ออกไปอีก 3 ครั้ง ซึ่งครบกำหนดไถ่วันที่ 20 เมษายน 2562 ต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2562 โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากต่อจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิไถ่ที่ดินตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 ตราขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า บทบัญญัติว่าด้วยขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่ภายใต้หลักของความศักดิ์สิทธิ์และเสรีภาพในการแสดงเจตนาระหว่างคู่สัญญาซึ่งเป็นเอกชนที่มีสถานะเท่าเทียมกัน แต่ในการขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนจำนวนมากปรากฏว่าผู้ขายฝากมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ซื้อฝากอันเนื่องมาจากสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน และผู้ขายฝากอาจได้รับความเดือดร้อนจากการสูญเสียที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย จึงกำหนดให้มีการควบคุมสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างเสริมความเป็นธรรมในสังคม เจตนารมณ์ของการบัญญัติกฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองประชาชนผู้ขายฝากมิให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ดังนั้น แม้สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นก่อนพระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อกำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลย คือวันที่ 20 เมษายน 2562 เป็นกำหนดไถ่ที่มีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ย่อมต้องด้วยหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวในส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 20 ที่ว่า "สัญญาขายฝากซึ่งทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ ให้มีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันทำสัญญาขายฝาก เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้... (3) ให้นำความในมาตรา 17 มาใช้บังคับกับสัญญาขายฝากที่มีผลบังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และในกรณีที่กำหนดเวลาไถ่ในสัญญาขายฝากมีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ขยายกำหนดเวลาการไถ่ออกไปเป็นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ..." กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องขยายระยะเวลาออกไปตามบทกฎหมายที่มีสภาพบังคับเพื่อประโยชน์แก่ผู้ขายฝาก โดยขยายกำหนดไถ่ออกไปอีกหกเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ทำให้จะครบกำหนดไถ่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และเมื่อพระราชบัญญัตินี้มีความมุ่งหมายในการคุ้มครองมิให้ผู้ขายฝากต้องสูญเสียที่ดินทำมาหากินหรือที่ดินที่อยู่อาศัย การบอกกล่าวให้ผู้ขายฝากรู้ตัวล่วงหน้าถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่เพื่อประโยชน์ต่อการใช้สิทธิไถ่ของผู้ขายฝากจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ดังความในมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือน ให้ผู้ซื้อฝากแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากทราบกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ พร้อมทั้งแนบสำเนาสัญญาขายฝากไปด้วย..." และหากผู้ซื้อฝากละเลยไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ย่อมเป็นผลตามมาตรา 17 วรรคสอง ที่ว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อฝากไม่ได้ดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ขายฝากภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่งหรือมิได้ส่งสำเนาสัญญาขายฝากไปด้วย ให้ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้ภายในหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝาก โดยผู้ขายฝากมีหน้าที่ชำระสินไถ่ ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา" ซึ่งกำหนดเวลาที่ให้ผู้ซื้อฝากแจ้งกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่แก่ผู้ขายฝากนี้เป็นทำนองเดียวกับการขยายกำหนดเวลาไถ่ตามมาตรา 20 (3) ข้างต้น อันแสดงให้เห็นว่าเป็นบทบังคับให้ผู้ซื้อฝากต้องแจ้งกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่แก่ผู้ขายฝากภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก่อนวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ขยายระยะเวลาออกไปโดยผลของกฎหมายตามที่กล่าวมา จำเลยฝ่ายผู้ซื้อฝากได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคหนึ่ง โดยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ผู้ขายฝากทราบถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือน กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากจึงต้องขยายไปอีกหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ตามมาตรา 17 วรรคสอง กล่าวคือ ขยายออกไปอีกจนถึงวันที่ 17 เมษายน 2563 การที่โจทก์ขอไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต่อจำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จึงยังคงอยู่ภายในกำหนดไถ่ และจำเลยต้องไถ่ถอนการขายฝากแก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค วินิจฉัยว่า กำหนดไถ่เป็นไปตามที่ขยายโดยผลของมาตรา 20 (3) คือวันที่ 17 ตุลาคม 2562 เท่านั้น โจทก์ขอไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากเมื่อล่วงพ้นกำหนดไถ่จึงสิ้นสิทธิไถ่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 9,188.40 บาท และค่าเสียหายอีกวันละ 141.36 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะไถ่ถอนที่ดินที่ขายฝากให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่า การที่จำเลยไม่รับไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำทรัพย์สินที่ขายฝากออกจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกได้ นั้น ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยก่อน และเห็นว่า ความเสียหายที่โจทก์อ้างนั้นเป็นความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยคาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าในอันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง ทั้งพยานประกอบข้ออ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวของโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวขึ้นเองได้โดยง่าย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามนั้น จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การไถ่หรือไม่ไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากมีผลต่อกรรมสิทธิ์รวมทั้งการครอบครองใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่ขายฝาก และเนื่องจากกำหนดไถ่ตามสัญญาและที่กำหนดโดยบทกฎหมายที่กล่าวมา เมื่อนับถึงปัจจุบันได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว เพื่อประโยชน์และเป็นธรรมต่อคู่ความทั้งสองฝ่าย ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเวลาให้ปฏิบัติในการไถ่ขายฝากไว้เสียด้วย
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 36230 และ 53279 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยให้โจทก์ชำระสินไถ่เป็นเงิน 1,872,000 บาท แก่จำเลยภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา หากจำเลยไม่จดทะเบียนไถ่ขายฝากให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากโจทก์ไม่ดำเนินการภายในกำหนดให้ถือว่าไม่ติดใจไถ่ขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คำขออื่นของโจทก์ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ