คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. ลงวันที่ 17 มีนาคม 2557 สั่งจ่ายเงิน 88,643 บาท มอบให้บริษัท ก. ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้ค่างวดรถตามสัญญาเช่าซื้อ ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และขอให้นับโทษต่อจากโทษในคดีอื่น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 จำเลยและผู้เสียหายตกลงกันได้ จำเลยนำเงิน 20,000 บาท วางต่อศาลชั้นต้น เพื่อชดใช้เงินตามเช็คให้แก่ผู้เสียหายบางส่วน และในวันเดียวกันผู้เสียหายยื่นคำแถลงขอรับเงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจจ่ายเงินให้แก่ผู้เสียหาย วันที่ 15 ตุลาคม 2557 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานขออนุญาตศาลถอนเงินกลาง 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้แก่ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ตรวจจ่ายตามระเบียบ
วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 จำเลยวางเงิน 68,643 บาท และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 จำเลยนำเงินค่าดอกเบี้ยตามเช็คมาวางอีก 4,417 บาท รวมเป็นเงิน 73,060 บาท อันเป็นการที่จำเลยนำเงินมาวางต่อศาลชั้นต้นตามจำนวนเงินในเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้เสียหาย ศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อจำเลยนำเงินตามจำนวนในเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยมาวางศาลชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย คดีย่อมเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 7 และทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ส่วนผู้เสียหายขอรับเงินจำนวนดังกล่าวในวันเดียวกัน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเนื่องจากผู้ร้องไม่นำหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายประกอบคำแถลงขอรับเงิน วันที่ 23 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวาง 73,060 บาท วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาล 93,060 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ศาลตรวจจ่ายเงิน 73,060 บาท โดยโอนเข้าบัญชีให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ไว้
วันที่ 21 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าเงิน 20,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางใช้หนี้ให้แก่ผู้เสียหายแล้ว และศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มารับเงินนับถึงวันที่ทำรายงานเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงขอยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าวและขอนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนำส่ง
วันที่ 12 มกราคม 2565 ผู้เสียหายยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งให้รับเงินค้างจ่ายที่จำเลยนำไปวางชำระหนี้ศาลว่า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอรับเงินที่จำเลยวางเพื่อชำระหนี้ต่อศาล 93,060 บาท และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายตามระเบียบ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ตรวจจ่ายเงินให้เพียง 73,060 บาท ยังขาดอีก 20,000 บาท โดยเงิน 20,000 บาท นี้ จำเลยได้นำมาวางเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 และในวันเดียวกันผู้เสียหายยื่นคำแถลงขอรับเงินจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายให้แก่เทศบาลตำบล ห. ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งจ่ายเงินกลางดังกล่าวให้ผู้เสียหาย
วันที่ 13 มกราคม 2565 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ได้ตรวจสอบพบว่า วันที่ 6 ตุลาคม 2557 จำเลยได้วางเงิน 20,000 บาท และผู้เสียหายยื่นคำแถลงขอรับเงินจำนวนดังกล่าวจริง แต่ผู้เสียหายไม่ได้มารับเงินจนเวลาล่วงเลยระยะเวลา 5 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 345 ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายใน 5 ปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน และได้มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้วเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้เจ้าหน้าที่ศาลจัดทำรายงานเสนอจ่ายเงินให้แก่เทศบาลตำบล ห. ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง แต่ศาลชั้นต้นสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อของผู้เสียหายถูกต้องผู้เสียหายไม่ติดต่อขอรับเงินจนเวลาล่วงเลยเกินระยะเวลาห้าปี เงิน 20,000 บาท จึงตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 345 และได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้วเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 จึงไม่อาจสั่งจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้เสียหายได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้เสียหายอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
ผู้เสียหายฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีสิทธิรับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค 20,000 บาท คืนหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอรับเงินวางชำระหนี้คืนจากศาลนั้น เป็นกรณีของการขอเงินค้างจ่ายคืนจากศาล ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 345 บัญญัติว่า บรรดาเงินต่าง ๆ ที่ค้างจ่ายอยู่ในศาลหรือที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ถ้าผู้มีสิทธิมิได้เรียกเอาภายในห้าปี ให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยเมื่อมีการวางเงินต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ของลูกหนี้ ศาลชั้นต้นมีหน้าที่แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบว่า มีเงินที่ลูกหนี้นำมาวางศาลเพื่อให้เจ้าหนี้รับไป เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วเจ้าหนี้ไม่มารับเงินไปภายในห้าปีนับแต่วันที่วางเงิน เงินที่ค้างจ่ายอยู่ในศาล จึงตกเป็นของแผ่นดิน สำหรับคดีนี้จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายให้ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตถอนเงินกลาง 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้เทศบาลตำบล ห. ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย และมีการวางเงินรวม 73,060 บาท เมื่อวันที่ 14 และ 20 พฤศจิกายน 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเนื่องจากผู้ร้องไม่นำหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายมาแสดง ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวาง 73,060 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาล 93,060 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้วางไว้ตามความเป็นจริง อันเป็นการขอรับเงินภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ทราบการแจ้งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ศาลตรวจจ่ายเงินเพียง 73,060 บาท โดยโอนเข้าบัญชีให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ไว้ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการวางเงินจริงทั้งหมด 93,060 บาท และการที่เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าเงิน 20,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางเงินใช้หนี้ให้แก่ผู้เสียหายและศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มารับเงินนับถึงวันที่ทำรายงานเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงขอยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าวและขอนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งนำส่งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นั้นก็ไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ศาลชั้นต้นต้องคืนเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหายฎีกาของผู้เสียหายฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้คืนเงิน 20,000 บาท แก่บริษัทกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด ผู้เสียหาย