โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงิน 117,555,593.31 บาท พร้อมค่าชดเชยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 60,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงยุติโดยไม่มีคู่ความโต้แย้งกันได้ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ต่อมามีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์มีระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อ (Credit Manual) โจทก์ออกคำสั่งที่ ธ.139/2551 เรื่อง สินเชื่อต้องห้ามและสินเชื่อพิเศษแต่ละประเภท เพื่อให้เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.33/2551 เรื่อง การให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้ จำเลยเคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติสินเชื่อ ร่วมวิเคราะห์สินเชื่อกับหน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อให้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นประโยชน์ต่อการอนุมัติสินเชื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 จำเลยนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อของลูกค้ารายบริษัท ซ. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโจทก์ ครั้งที่ 33/2553 และขอเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันในที่ประชุมด้วยวาจา จากนางสาวสุภาพรเป็นนายปรีชา โดยไม่ได้นำเสนอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบภาระหนี้สินของนายปรีชาที่ค้างชำระต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เกินกว่า 300 วัน ซึ่งมียอดหนี้ค้างชำระ 18,151,121 บาท เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อของคณะกรรมการบริหารของโจทก์ โจทก์อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท ซ. ตามที่จำเลยนำเสนอ โดยมีการเบิกสินเชื่องวดแรกในวันที่ 16 ธันวาคม 2553 บริษัท ซ. ผิดนัดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในงวดที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อจำเลย แล้วมีคำสั่งลงโทษให้จำเลยออกตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 โจทก์ฟ้องบริษัท ซ. และนายปรีชากับพวกรวม 6 คน ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.5002/2557 คดีหมายเลขแดงที่ ผบ.3157/2559 ซึ่งศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวและนายปรีชากับพวกร่วมกันชำระเงิน 94,684,743.99 บาท พร้อมค่าชดเชยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000,000 บาท ต่อมาโจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดต่อจำเลยกับพวกรวม 3 คน แล้วเห็นว่า ความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการกระทำผิดของจำเลย เห็นควรให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวคืนแก่โจทก์ แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ การกระทำของจำเลยที่ไม่เสนอเอกสารหลักฐานภาระหนี้ของนายปรีชา อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ที่ ธ.139/2551 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.33/2551 แม้ไม่ถือว่าเป็นการจงใจปกปิดข้อมูลต่อคณะกรรมการบริหารโจทก์ แต่เป็นการประมาทเลินเล่ออันเป็นละเมิดและผิดสัญญาจ้าง การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของคณะกรรมการบริหารโจทก์ต้องพิจารณาจากเงื่อนไขหลายประการประกอบกัน ไม่ใช่เฉพาะกรณีเรื่องภาระหนี้สินของนายปรีชาผู้ค้ำประกันเพียงอย่างเดียว เมื่อบริษัท ซ. ผิดนัดชำระหนี้และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หลังจากที่โจทก์ให้สินเชื่อไปนานถึง 1 ปีเศษ การกระทำของจำเลยยังห่างไกลต่อผลที่บริษัทดังกล่าวผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ความเสียหายของโจทก์ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอันเป็นหน่วยงานของรัฐ ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ว่า เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่า การกระทำของจำเลยเป็นทั้งมูลสัญญาและเป็นทั้งมูลละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่ความเสียหายทั้งมูลละเมิดและมูลสัญญาดังกล่าวตามอ้างเป็นจำนวนเดียวกัน และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การพิเคราะห์ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จำต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เสียก่อน จึงจะมีสิทธิดำเนินการในศาลได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงาน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 แต่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำนิยามความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ว่า กระทรวง... และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา..." รัฐวิสาหกิจใดจะเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายดังกล่าวได้นั้น คงมีแต่เฉพาะกรณีที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงจากหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เรื่อง การเพิ่มทุนของโจทก์ ท้ายคำร้องขออนุญาตฎีกาของโจทก์โดยจำเลยไม่คัดค้านว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการซื้อหุ้นเพิ่มทุนโจทก์ของกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จะทำให้โจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ก็ตาม แต่การเข้าถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวก็ไม่ทำให้ฐานะของโจทก์ในขณะจัดตั้งตามกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ เมื่อตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มาตรา 7 กำหนดให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด การจัดตั้งโจทก์ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมไม่ได้มีความประสงค์ให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ อันจะตกอยู่ในความหมายของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบกับคดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเพียงอย่างเดียว แต่โจทก์ระบุชัดในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ โดยบรรยายฟ้องว่าขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่อขออนุมัติสินเชื่อ จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ได้นำเสนอขออนุมัติวงเงินอนุมัติสินเชื่อลูกค้ารายบริษัท ซ. โดยขออนุมัติเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันด้วยวาจาจากเดิมนางสาวสุภาพรเป็นนายปรีชา โดยไม่ได้นำเสนอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบภาระหนี้สินของนายปรีชาตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อ ส่งผลต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและต่อมาบริษัท ซ. ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากลูกค้ารายดังกล่าวและนายปรีชาซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันได้ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ก่อนฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นเรื่องนี้มาแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าวให้ เนื่องจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานซึ่งไม่ถูกต้อง ดังที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไปก่อนแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวได้ และเพื่อความรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาพิพากษาใหม่ จากข้อเท็จจริงที่ยุติว่า ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติสินเชื่อ ร่วมวิเคราะห์สินเชื่อกับหน่วยงานวิเคราะห์สินเชื่อเพื่อให้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นประโยชน์ต่อการอนุมัติสินเชื่อ กลับนำเสนอขออนุมัติสินเชื่อของลูกค้ารายบริษัท ซ. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโจทก์ ครั้งที่ 33/2553 โดยขอเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันในที่ประชุมด้วยวาจาจากนางสาวสุภาพรเป็นนายปรีชา ซึ่งไม่ได้นำเสนอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบภาระหนี้สินของนายปรีชาที่ค้างชำระต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เกินกว่า 300 วัน เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อของคณะกรรมการบริหารของโจทก์ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ในบทที่ 4 การจัดเตรียมเอกสารขออนุมัติสินเชื่อ ข้อ 4.1.3 รายงานข้อมูลพื้นฐาน (5) ข้อมูลลูกค้า และการตรวจสอบข้อมูลเครดิตกลาง (Credit Bureau) ของผู้เกี่ยวข้องในการขอสินเชื่อ เช่น ผู้ขอสินเชื่อ กรรมการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หุ้นส่วน ผู้จัดการ ผู้ค้ำประกัน เป็นต้น โดยเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อที่มีความสำคัญ และต้องนำส่งทุกครั้งที่มีการขออนุมัติสินเชื่อ การกระทำของจำเลยเช่นนี้จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สนส.33/2551 เรื่อง การให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ข้อ 5.1 ข้อ 5.1.3 และข้อ 5.1.5 ที่ให้สถาบันการเงินงดเว้นหรือระงับการให้สินเชื่อในลักษณะที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้สินเชื่อที่ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานแสดงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับตัวลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน หรือการให้สินเชื่อโดยไม่ได้มีการวิเคราะห์หรือประเมินฐานะหรือความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกัน อย่างเช่นสถาบันการเงินผู้ประกอบกิจการด้วยความระมัดระวังพึงกระทำ และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโจทก์ที่ ธ.139/2551 เรื่อง สินเชื่อต้องห้ามและสินเชื่อพิเศษแต่ละประเภท ข้อ 1.2 ข้อ 1.2.3 และข้อ 1.2.5 ซึ่งห้ามให้สินเชื่อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้งดเว้นหรือระงับการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นการให้สินเชื่อที่เล็งเห็นว่าจะเรียกคืนไม่ได้ ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส.33/2551 ดังกล่าว การไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ประกาศ และคำสั่งโจทก์ของจำเลยเช่นนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ย่อมเป็นการผิดสัญญาจ้างต่อโจทก์ หลังจากที่โจทก์อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัท ซ. ตามการกระทำที่ไม่ถูกต้องของจำเลยดังกล่าวแล้ว บริษัท ซ. ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียง 13 งวด ค้างชำระเงินต้นถึง 60,000,000 บาท ทำให้โจทก์ต้องฟ้องบริษัท ซ. และนายปรีชากับพวกรวม 6 คน ต่อศาลแพ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามระเบียบ ประกาศ และคำสั่งโจทก์ของจำเลยข้างต้น เนื่องจากหากจำเลยนำเสนอเอกสารหลักฐานการตรวจสอบภาระหนี้สินของนายปรีชาที่ค้างชำระต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เกินกว่า 300 วัน ซึ่งมียอดหนี้ค้างชำระจำนวนมากถึง 18 ล้านบาทเศษ ให้คณะกรรมการบริหารของโจทก์พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว การตัดสินใจอนุมัติเงินกู้ให้แก่บริษัท ซ. ของคณะกรรมการบริหารของโจทก์ย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เหมาะสมและถูกต้อง เพราะความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ ย่อมเป็นเหตุผลประกอบสำคัญที่คณะกรรมการบริหารของโจทก์ใช้ตัดสินใจในการอนุมัติเงินกู้ให้แก่บริษัทดังกล่าว ส่งผลให้โจทก์อาจไม่ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากเช่นนี้ จึงหาใช่เป็นกรณีที่การกระทำของจำเลยยังห่างไกลต่อผลที่บริษัท ซ. ผิดนัดไม่ชำระหนี้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์ไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยจากการไม่ได้รับชำระหนี้จากการให้สินเชื่อแก่บริษัท ซ. นั้น เมื่อหนี้ดังกล่าวศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บริษัทดังกล่าวและนายปรีชากับพวกร่วมกันชำระเงิน 94,684,743.99 บาท พร้อมค่าชดเชยร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 60,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งยังให้บังคับจำนำยึดหุ้นของบริษัทดังกล่าวออกขายทอดตลาดมาชำระหนี้ และให้บังคับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ได้จดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาด หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ให้ครบถ้วนถูกต้อง ดังนั้น การจะกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวทั้งหมดอีกย่อมเป็นการซ้ำซ้อนและเป็นการไม่สมควร การกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์คงต้องคำนึงถึงจำนวนเงินต้นทุนสินเชื่อตามจริงที่บริษัทดังกล่าวกู้ยืมไปจากโจทก์ และจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระแล้วในคดีตามคำพิพากษาของศาลแพ่งหรืออาจจะได้รับชำระตามคำพิพากษาต่อไปโดยการบังคับจากหลักประกัน คือ หุ้นของบริษัท ซ. ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จดทะเบียนจำนอง และผู้ค้ำประกัน ประกอบเข้ากับการลดน้อยถอยลงของหลักประกันซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันที่จำเลยกระทำผิดต่อระเบียบ ประกาศ และคำสั่งโจทก์ดังกล่าวข้างต้นด้วย แต่การกำหนดค่าเสียหายนี้เป็นดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดให้ได้ จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยควรรับผิดต่อโจทก์เพียงใดตามนัยข้างต้นต่อไป ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษากลับ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมค่าชดเชยผิดนัดให้แก่โจทก์ และให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายว่า จำเลยควรต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี