โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 91,619.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 72,798.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์คืนเงิน 115,555 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเฉพาะคำให้การไม่รับฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน 72,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 70,000 บาท นับจากวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ วงเงิน 100,000 บาท นอกจากนั้นจำเลยยังมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ธนาคารโจทก์สาขาลาดหญ้า ยอดเงินคงเหลือยกมา 113,548.01 บาท และรายการวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ยอดเงินคงเหลือ 115,561.23 บาท โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 จำเลยได้ไปขอใช้บริการบัตรเอทีเอ็มสำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ดังกล่าว ใบแจ้งยอดการใช้บัตรเครดิต ปรากฏรายการการใช้บัตรเครดิตในแต่ละเดือน ดังนี้ วันที่ (ว/ด) ที่เกิดรายการในเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 6 รายการ คือ (1) 6 ธันวาคม 2560 UNICEF AREA OFF FOR THAILBANGKOK 1,499 บาท (2) 8 ธันวาคม 2560 SAMITIVEJ HOSPITAL LTD BANGKOK 15,727 บาท (3) 14 ธันวาคม 2560 ROYAL PROJECT SHOP BANGKOK TH 505 บาท (4) 14 ธันวาคม 2560 03091 DTN CO. THE OLD SIAM BANGKOK 426.93 บาท (5) 15 ธันวาคม 2560 THAI RED CROSS SOCIETY BANGKOK 1,800 บาท และ (6) 21 ธันวาคม 2560 CASH ADVANCE 70,000 บาท อันเป็นรายการที่ปิดยอดวันที่ 5 มกราคม 2561 และวันกำหนดชำระคือวันที่ 25 มกราคม 2561 ส่วนในเดือนถัดมาที่ปิดยอดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 และกำหนดชำระในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 จนถึงปิดยอดวันที่ 5 มีนาคม 2562 และกำหนดชำระในวันที่ 25 มีนาคม 2562 ไม่ปรากฏรายการการใช้บัตรในแต่ละเดือน คดีเป็นอันฟังได้ว่าจำเลยใช้บัตรครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 จำนวน 70,000 บาท และชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 จำนวน 19,957.93 บาท อันเป็นจำนวนเท่ากับรายการการใช้บัตรในเดือนธันวาคม 2560 รายการที่ (1) ถึงที่ (5) จำเลยยกเลิกบัตรเอทีเอ็มพร้อมปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และยกเลิกบัตรเครดิตแล้ว คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะรายการการใช้บัตรในเดือนดังกล่าวรายการที่ (6) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ซึ่งจำเลยปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องหรือไม่ การที่จำเลยถูกคนร้ายหลอกให้เปิดบัตรเอทีเอ็มแล้วคนร้ายใช้ข้อมูลไปใช้เบิกถอนเงินจากบัตรเครดิตเป็นเพราะระบบรักษาความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ขาดประสิทธิภาพ ข้อนี้สำหรับรายการการใช้บัตรในเดือนดังกล่าวรายการที่ (6) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 นั้น ได้ความจากนายรวิกร พนักงานของโจทก์เบิกความตอบศาลว่า จำเลยใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ 70,000 บาท มีค่าธรรมเนียม 2,100 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 147 บาท และเบิกความตอบข้อซักถามของทนายโจทก์ตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลถึงการเบิกถอนเงินดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 เวลา 15 นาฬิกา โจทก์ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวกับจำเลย ได้แก่ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย และหมายเลขบัตรเอทีเอ็มที่จำเลยเคยสมัครใช้บริการไว้กับโจทก์ก่อนหน้านั้น ข้อมูลดังกล่าวถูกส่งผ่านระบบแอพพลิเคชันที่โจทก์จัดไว้แก่บุคคลทั่วไปผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับสมัครขอใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ทำธุรกรรมการถอนเงิน โอนเงิน หรือชำระสินค้าและค่าบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เวลา 15.01 นาฬิกา เมื่อโจทก์ตรวจสอบว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยแล้วจริง โจทก์ส่งหมายเลขรหัสผ่านหรือที่เรียกว่าโอทีพีแก่จำเลยผ่านเข้าไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 8871xxxx ของจำเลยที่เคยแจ้งและลงทะเบียนไว้ โจทก์ได้รับแจ้งหมายเลขโทรศัพท์นั้นจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2555 การส่งรหัสโอทีพีเพื่อให้จำเลยนำไปสมัครขอใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ดำเนินการสมัครขอรับบริการอิเล็กทรอนิกส์กับโจทก์ในนามของจำเลยด้วยข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยจนเสร็จสิ้น ภายหลังจากที่โจทก์ได้รับการยืนยันหมายเลขรหัสโอทีพีที่โจทก์ส่งให้ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวส่งกลับมายังโจทก์ถูกต้องตรงกันจึงอนุมัติให้จำเลยใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ เวลา 17.22 นาฬิกา มีผู้ส่งคำสั่งขอถอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากบัตรเครดิตของจำเลย โจทก์เชื่อว่าเป็นคำสั่งของจำเลยจริงจึงส่งรหัสโอทีพีอีกรหัสหนึ่งสำหรับธุรกรรมในการถอนเงินครั้งนี้ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยในลักษณะเช่นเดียวกัน เวลา 17.22.52 นาฬิกา มีรายการเบิกถอนเงินจากบัตรเครดิตของจำเลยโดยคำสั่งกำหนดให้จำนวนเงินทั้งหมดโอนไปเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่เปิดใช้บริการไว้กับโจทก์ก่อนหน้านั้น โจทก์ตรวจสอบความถูกต้องแล้วจึงอนุมัติให้ทำรายการดังกล่าวตามคำสั่งจนเสร็จสิ้น มีรายละเอียดของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วยวันสมัคร ชื่อจำเลย หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลย หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อโทรศัพท์ และหมายเลขประจำตัวของเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Device ID) โดยเฉพาะหมายเลขโทรศัพท์ 08 8871xxxx แม้ขณะที่จำเลยสมัครขอรับบัตรเครดิตจากโจทก์พยานยังไม่ได้เข้าทำงานเป็นพนักงานของโจทก์และไม่ทราบว่าปัจจุบันจำเลยยังใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 8871xxxx อยู่หรือไม่ ก็ตาม แต่พยานเป็นพนักงานของโจทก์ ทำงานในตำแหน่งฝ่ายตรวจสอบการทุจริต เบิกความรับรองข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ย่อมต้องตรวจสอบความเป็นมาแห่งข้อมูลหนี้ในการทำธุรกรรมดังกล่าวว่ามีอยู่จริงและถูกต้อง และจำเลยมิได้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ได้ความจากจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ตามที่ได้รับอนุญาตจากศาลว่า จำเลยน่าจะเคยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าว อีกประการหนึ่งที่จำเลยไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจเอกวิเชียร พนักงานสอนสวนสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 นั้น จำเลยได้ให้ข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย 08 8871xxxx ไว้ด้วย แสดงว่าหมายเลขดังกล่าวเป็นหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย บันทึกผลการค้นหาการส่ง SMS เป็นรายการที่ส่งรหัสโอทีพีไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยเพื่อแจ้งยืนยันการสมัครรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนรายการที่ 1 เป็นรายการส่งรหัสโอทีพีไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวอีกเพื่อยืนยันการถอนเงินจากบัตรเครดิตของจำเลย แม้จำเลยจะอ้างว่าปัจจุบันไม่ได้ใช้โทรศัพท์หมายเลขดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านั้นขณะที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขนี้ก็ไม่ค่อยได้พกพาติดตัวหรือใช้สอยบ่อยนัก ทั้งไม่ทราบว่าหมายเลขดังกล่าวอยู่ที่ใด ซึ่งไม่เป็นเหตุผลอันควรแก่การรับฟัง คดีเป็นอันฟังได้ว่าจำเลยทำธุรกรรมดังกล่าวกับโจทก์โดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นจริง จำเลยเบิกความถึงเหตุที่จำเลยเปิดใช้บริการบัตรเอทีเอ็มกับโจทก์เป็นเพราะเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 จำเลยได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากคนร้ายว่าธนาคาร ห. ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย และคนร้ายให้จำเลยพูดคุยโทรศัพท์กับบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งบุคคลดังกล่าวแนะนำให้จำเลยไปเปิดใช้บริการเอทีเอ็ม หลังจากนั้นจึงพบว่ามีการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์และจากบัตรเครดิตไปยังบุคคลภายนอกข้อนี้ไม่ปรากฏเหตุผลว่าการเปิดใช้บริการบัตรเอทีเอ็มตามบัญชีออมทรัพย์ธนาคารโจทก์มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับข้ออ้างที่ว่าธนาคาร ห. ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทางใด และไม่เป็นเหตุผลที่แสดงว่าคนร้ายอาศัยเป็นช่องทางในการสมัครเข้ารับบริการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ทำธุรกรรมการถอนเงิน โอนเงิน หรือชำระสินค้าและค่าบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งไม่ปรากฏว่าระบบรักษาความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ขาดประสิทธิภาพอย่างใดหรือในขั้นตอนใด จำเลยอ้างแต่เพียงว่าที่โจทก์ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งเพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดพนักงาน จำเลยไม่ได้ยินยอมให้โจทก์ผูกโยงสัญญาเงินฝากและสัญญาบัตรเครดิตเข้าด้วยกัน กับอ้างด้วยว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลยให้คนร้ายนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบเยี่ยงผู้มีวิชาชีพ แม้โจทก์จะประกอบกิจการธนาคารอันเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการเงินและออกแบบธุรกรรมอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่ข้อมูลที่ใช้ในการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวล้วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยที่เป็นข้อมูลที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยโดยเฉพาะยากที่บุคคลอื่นใดจะล่วงรู้ข้อมูลเหล่านั้นได้ จะถือว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยเป็นเหตุให้คนร้ายนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์หาได้ไม่ ที่จำเลยคิดว่าที่คนร้ายระบุให้จำเลยไปทำบัตรเอทีเอ็มที่ธนาคารโจทก์ อาจเป็นเพราะระบบความปลอดภัยของโจทก์ยังไม่ได้มาตรฐานเช่นของสถาบันการเงินอื่น นั้น เป็นเพียงการคิดวิเคราะห์ตามความรู้ความเห็นของตนโดยลำพังไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน กับอ้างแต่เพียงลอย ๆ ว่าจำเลยไม่เคยได้รับหรือทราบรหัสโอทีพีที่โจทก์อ้างว่าส่งให้แก่จำเลยดังที่เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ ทั้งที่ยอมรับความข้อนี้แล้วว่าเคยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 8871xxxx อันเป็นช่องทางที่โจทก์ใช้ในการติดต่อทำธุรกรรมดังกล่าวมา แม้การร้องทุกข์ของจำเลยจะเป็นการกระทำเพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งเป็นวิธีการใช้สิทธิเพื่อขอรับความคุ้มครองเมื่อจำเลยเห็นว่ามีคนร้ายใช้เทคโนโลยีเบิกเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตของตน แต่ความข้อนี้ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะนำมารับฟังเพื่อหักล้างธุรกรรมโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะหากจำเลยไม่ได้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ข้อมูลของจำเลยและรหัสโอทีพีที่รับส่งผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยยากที่จะมีการสมัครเข้ารับบริการและออกคำสั่งถอนเงินจากบัตรเครดิตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ ที่ร้อยตำรวจเอกวิเชียร พนักงานสอบสวน ประจำสถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม พยานจำเลยเบิกความว่า คนร้ายหลอกให้จำเลยไปทำบัตรเอทีเอ็มแล้วสมัครรับบริการโอนเงินทางอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นได้โอนเงินจากบัญชีของจำเลยทางอินเทอร์เน็ตไปเข้าบัญชีของนางสาวนุชนาถ และเบิกถอนเงินสดจากบัตรเครดิตของจำเลยเข้าบัญชีนางภัทรพร โดยจำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องและไม่ได้ร่วมกระทำความผิด นั้น เป็นเพียงความเห็นตามดุลพินิจของพยาน ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคนร้ายล่วงรู้และสามารถใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของจำเลยกับรหัสโอทีพีในการสมัครรับบริการและโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ โดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นและเกี่ยวข้องด้วยอย่างไร ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ