โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนถึงวันฟ้องรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน1,104,696.16 บาท กับชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,080,495.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่โดยกำหนดค่าทนายความรายละ 10,000 บาท รวม 2 ราย เป็นเงิน 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปในประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ปัญหานี้ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องโดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างขนส่งสินค้าตามฟ้องโดยมีการนำสินค้าไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 4 ซึ่งได้รับจ้างขนส่งสินค้านี้โดยเครื่องบินของจำเลยที่ 4 เพื่อขนส่งจากท่าอากาศยานซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มายังท่าอากาศยานกรุงเทพ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งและจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ทำการขนส่งสินค้านี้ทางอากาศ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น แม้จำเลยที่ 2 จะให้การและนำสืบว่า จำเลยที่ 2 กระทำการในฐานะที่เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนส่งตามฟ้องครั้งนี้ก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างใช้ชื่อว่า ยูพีเอส (UPS) และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ใช้ชื่อยูพีเอส เอสซีเอส (UPS SCS) เช่นเดียวกัน ทั้งนายกฤษฎา พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทพี แอนด์ เอ แอ็ดจัสเม้นท์จำกัด ผู้สำรวจเหตุความเสียหายในการสูญหายของสินค้าตามฟ้องได้ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงกับเบิกความประกอบว่า จำเลยที่ 3 ได้ส่งเอกสารการเรียกร้องของผู้เอาประกันภัยไปยังจำเลยที่ 1 ตามแบบพิมพ์การเรียกร้องของลูกค้ายูพีเอส เอสซีเอส ซึ่งแบบพิมพ์การเรียกร้องฉบับนี้นอกจากจะใช้เครื่องหมาย UPS เหมือนกับเครื่องหมายในใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 1 ในรายละเอียดก็ยังมีข้อความในลักษณะเกี่ยวกับเครือข่ายการทำธุรกิจของกลุ่มบริษัทยูพีเอส เอสซีเอส โดยมีข้อความตอนล่างสุดระบุถึงการให้บริการรวมทั้งความรับผิดของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามข้อความและเงื่อนไขการให้บริการของยูพีเอส เอสซีเอส ที่สามารถตรวจดูได้ทางเว็บไซต์ www.ups-scs.com แสดงว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกลุ่มบริษัทในเครือข่ายเดียวกันที่ให้บริการเป็นระบบเครือข่ายในประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ในการขนส่งสินค้าตามฟ้องนี้ยังได้ความตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 1 ที่เป็น House Air Waybill แสดงการรับสินค้าไว้จากผู้ส่งของซึ่งได้แก่ผู้ที่ขายสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกใบรับขนของทางอากาศฉบับนี้ ส่วนใบรับขนของทางอากาศฉบับที่จำเลยที่ 4 ออกเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางอากาศ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งของ และชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับของที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 จะต้องรับสินค้าจากจำเลยที่ 4 เพื่อทำหน้าที่ในการส่งมอบสินค้าแก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับของตามใบรับขนของทางอากาศฉบับที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออก ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับที่ร่วมกันประกอบกิจการรับขนของเป็นเครือข่ายร่วมกัน จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้ร่วมกันรับขนส่งสินค้าตามฟ้อง แล้วมอบหมายให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งอื่นที่ขนส่งโดยเครื่องบินของจำเลยที่ 4 มายังท่าอากาศยานกรุงเทพ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปในประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งเนื่องจากสินค้าที่ได้รับมอบหมายสูญหายหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ถ้าทรัพย์สินอันได้เอาประกันภัยไว้นั้นได้คืนมา แต่ตามคำเบิกความของนายเศรษฐาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ต้องมีสินค้าตามฟ้องต่อผู้เอาประกันภัยประกอบกับในการซื้อสินค้านี้ผู้เอาประกันภัยตกลงซื้อในเทอม เอฟซีเอ ท่าอากาศยานซูริกซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องเสียค่าขนส่งจากท่าอากาศยานดังกล่าวมายังท่าอากาศยานกรุงเทพเองการที่ผู้เอาประกันภัยยอมเสียค่าขนส่งที่เป็นการขนส่งทางอากาศซึ่งย่อมมีค่าขนส่งสูงแต่ขนส่งได้รวดเร็ว โดยหลังจากสั่งซื้อสินค้าแล้วเพียงไม่กี่วันก็จะได้รับสินค้าก็เป็นเหตุผลแสดงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องได้รับสินค้าไว้ใช้โดยเร็ว โดยปรากฏว่าในการขนส่งครั้งนี้ซึ่งควรขนส่งสินค้าถึงท่าอากาศยานกรุงเทพในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 แต่สินค้านี้ไม่ได้ขนส่งถึงท่าอากาศยานกรุงเทพตามกำหนดดังกล่าว จนต้องมีการเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของสินค้า ทั้งยังมีการเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ด้วย และในที่สุดผู้เอาประกันภัยก็ต้องซื้อสินค้าดังกล่าวใหม่ ดังนี้แม้จะมีการพบสินค้าที่ขนส่งตามฟ้องนั้นในภายหลังก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ซื้อและผู้รับตราส่งสินค้านี้อีกต่อไปและการหาสินค้าดังกล่าวพบก็เป็นเวลาหลังจากที่สินค้าควรขนส่งมาถึงท่าอากาศยานกรุงเทพแล้วถึง 6 เดือนเศษ เมื่อพิจารณาถึงการขนส่งครั้งนี้เป็นการขนส่งทางอากาศที่ผู้รับตราส่งต้องการได้รับสินค้าโดยรวดเร็วแล้ว ก็นับได้ว่าการค้นพบสินค้าในเวลาดังกล่าวนั้นนานมากย่อมเกิดความเสียหายแก่ผู้รับตราส่งได้มากเกินกว่าที่ผู้รับตราส่งจะยอมรับได้ ระยะเวลาที่นานมากในพฤติการณ์เช่นนี้จึงย่อมก่อความเสียหายในลักษณะอันถือได้ว่ามีผลทำนองเดียวกันหรือเสมือนกับสินค้าสูญหายนั่นเอง แม้จะค้นหาพบในภายหลังก็ถือได้ว่าเป็นกรณีผู้รับตราส่งเสียหายจากความสูญหายของสินค้าแล้ว จึงชอบที่จะปฏิเสธการรับสินค้าที่หาพบ และกรณีที่โจทก์มิได้แจ้งจำเลยที่ 4 ว่าควรจัดการกับสินค้าที่ค้นพบอย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุผลให้ถือว่าโจทก์ยอมรับว่าสินค้าไม่สูญหายแต่อย่างใด ผู้เอาประกันภัยจึงชอบที่จะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความสูญหายของสินค้าตามเงื่อนไขแห่งสัญญาประกันภัยที่ทำไว้จากโจทก์ การที่โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจึงชอบแล้วและโดยที่ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ซื้อสินค้านี้จากผู้ขาย ซึ่งผู้ขายทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าดังกล่าวเพื่อให้นำไปส่งมอบแก่ผู้เอาประกันภัยโดยตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 1 ระบุว่าผู้ขายเป็นผู้ส่งและผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับตราส่งอันเป็นสัญญาขนส่งเพื่อประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้รับตราส่ง และผู้เอาประกันภัยก็ได้เรียกร้องไปยังจำเลยที่ 1 แล้วตามที่ปรากฏจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและการเบิกความประกอบของนายกฤษฎา ผู้สำรวจและทำรายงานการสำรวจ ว่าจำเลยที่ 3 ส่งอีเมลถึงจำเลยที่ 1 ว่า ผู้รับตราส่งต้องการทราบว่าสินค้าของเขาอยู่ที่ไหนและต่อมาวันที่ 21 มีนาคม 2551 ผู้รับตราส่งก็เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ตามแบบการเรียกร้องของลูกค้ายูพีเอส เอสซีเอส ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่นำสืบโต้แย้ง ดังนี้จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อผู้รับตราส่ง และแม้จำเลยที่ 1 จะได้มอบหมายสินค้าดังกล่าวให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้ที่ทำการขนส่งทางอากาศอีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 617 บัญญัติว่า "ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้า อันเกิดแต่ความผิดของผู้ขนส่งคนอื่นหรือบุคคลอื่นซึ่งตนหากได้มอบหมายของนั้นไปอีกทอดหนึ่ง" จำเลยที่ 1 จึงยังต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 ก็ย่อมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ที่บัญญัติว่า "ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดท่านว่าผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า" นั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติมาตรา 617 ดังกล่าวข้างต้นย่อมเห็นได้ว่า บทกฎหมาย 2 มาตรานี้มุ่งประสงค์ที่จะใช้ในกรณีที่มีผู้ขนส่งหลายราย ตั้งแต่ผู้ที่เข้าทำสัญญาขนส่งเป็นผู้ขนส่งคนแรกและผู้ขนส่งอื่นรายต่อไปที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งอีกทอดหนึ่งหรือมอบหมายต่อ ๆ หลายช่วงการขนส่งต่างต้องมีความรับผิดชอบในการดำเนินการขนส่งที่ตนได้รับมอบหมาย หากเกิดการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้าก็ต้องร่วมรับผิดด้วย โดยหาอาจอ้างว่าตนเป็นเพียงผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งจากผู้ขนส่งคนก่อน ซึ่งมิใช่ผู้ทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งของขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้ ทั้งนี้โดยข้อความตามมาตรา 618 ที่ว่า โดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด นี้ คำว่า "หลายทอด" นอกจากจะหมายถึงช่วงการขนส่งตามระยะทางที่อาจมีการแยกการขนส่งออกเป็นช่วงต่าง ๆ และเรียกเป็นทอดได้แล้ว ยังหมายถึงการมอบหมายเป็นทอดได้อีกด้วย ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งทำสัญญารับขนกับผู้ส่งและรับมอบหมายสินค้าจากผู้ส่งมาเพื่อทำการขนส่งก็ถือได้ว่าเป็นผู้ขนส่งที่รับมอบหมายเป็นทอดแรกแล้วมอบหมายสินค้าให้จำเลยที่ 4 ขนส่งไปเป็นอีกทอดหนึ่งก็เท่ากับมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดแล้วในส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายสินค้าจากจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าจากท่าอากาศยานซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มายังท่าอากาศยานกรุงเทพ โดยแม้จำเลยที่ 4 จะไม่มีนิติสัมพันธ์กับผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ก็ตามแต่เมื่อสินค้าที่จำเลยที่ 4 ได้รับมอบหมายมาสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ 4 เช่นนี้ จำเลยที่ 4 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งที่ทำสัญญาขนส่งกับผู้ส่งด้วยตามมาตรา 618 ดังกล่าว โดยรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว และเมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยโดยชอบแล้วก็ย่อมรับช่วงสิทธิจากผู้รับตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยในอันที่จะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในความสูญหายของสินค้าได้โดยชอบ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงตามจำนวนจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม หรือไม่ ในข้อนี้เห็นว่า ตามใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 1 ออกให้ และใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 4 ออกให้ ด้านหลังต่างก็มีข้อความจำกัดจำนวนความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เป็นเงินไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศมีช่องว่างสำหรับเติมข้อความเพื่อการแสดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่ง และมีข้อความอธิบายให้ผู้ส่งตรวจดูข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ โดยหากประสงค์จะให้เพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ ก็ให้แสดงราคาและชำระเงินเพิ่มได้ แต่ปรากฏว่าในช่องแสดงราคาเพื่อการขนส่งดังกล่าวมีการระบุข้อความในช่องว่างว่า เอ็นวีดีหรือการไม่แสดงราคา อันแสดงว่าผู้ส่งยอมรับข้อจำกัดความรับผิด 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม ดังกล่าว โดยไม่ประสงค์จะแสดงราคาสินค้าเพื่อการขนส่งและชำระเงินเพิ่มเพื่อเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งดังกล่าว ทั้งยังปรากฏว่าผู้ขายในฐานะผู้ส่งและทำสัญญาขนส่งนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบชำระค่าขนส่งกับต้องรับความเสี่ยงภัยในการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าระหว่างการขนส่งทางอากาศจากท่าอากาศยานซูริกมายังท่าอากาศยานกรุงเทพก็ป้องกันความเสี่ยงนี้โดยเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ทั้งนายสราวุธ พยานจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความประกอบว่า บริษัทสต๊อปปิ้นซ์ เอจี ผู้ขายและเป็นผู้ส่งสินค้าครั้งนี้เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 มานานกว่า 3 ปี โดยทราบเงื่อนไขการรับขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ดีว่า จำเลยที่ 1 จำกัดความรับผิดในการขนส่งสินค้าไว้ไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม และโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้เป็นอย่างอื่น พยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยดังกล่าวจึงมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่า ผู้ส่งตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งโดยตกลงชัดแจ้งให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้ไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รวมทั้งจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดต่อผู้รับตราส่งรวมทั้งโจทก์ผู้รับช่วงสิทธิจากผู้รับตราส่ง ตามสัญญาประกันภัยในจำนวนเพียงตามข้อจำกัดความรับผิด 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม โดยสินค้าที่สูญหายมีน้ำหนักที่รับฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบตรงกัน 237 กิโลกรัมคิดเป็นจำนวนเงินความรับผิดของผู้ขนส่งที่จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์จำนวน 4,740 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยเป็นเงินบาทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 แล้วรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมา หนี้เงินดังกล่าวจึงเป็นหนี้เงินไทยแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระเงินดังกล่าว การชำระหนี้ค่าเสียหาย 4,740 ดอลลาร์สหรัฐ นี้จึงต้องชำระเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่ 12 พฤษภาคม 2551
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงินไทยที่คิดเปลี่ยนจากจำนวนเงิน 4,740 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทที่เป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ณ วันที่12 พฤษภาคม 2551 ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวก็ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่มีก่อนวันดังกล่าว กับให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนที่คิดจากทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี และกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 6,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้เป็นพับ