โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (4), 371, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางลอย มารดานางสาวชูใจ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 670,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบ 52 (1) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืน จำคุกคนละ 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 620,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง และยกคำร้องของโจทก์ร่วม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีในส่วนแพ่ง โจทก์ร่วมไม่ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งมีแสงสว่างจากเสาไฟฟ้าสาธารณะส่องออกจากมุมสูง เชื่อว่าเด็กชายภานุเดชมองเห็นเหตุการณ์จากช่องว่างตรงประตูสังกะสีได้ชัดเจน โดยยืนยันว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงมาที่ประตูบ้านและหลบหนีไปกับจำเลยทั้งสองสวมหมวกนิรภัยและใส่เสื้อแขนยาวสีดำ จำเลยทั้งสองก็รับว่าได้ไปทวงเงินจากนายนิรัญที่หน้าบ้าน จำเลยที่ 2 เป็นคนเรียกนายนิรัญซึ่งมีชื่อเล่นว่าปู โดยอ้างว่าเมื่อมีเสียงผู้หญิงตะโกนว่าปูไม่อยู่ จึงพากันกลับ แต่จากคำเบิกความของนายธิติพงศ์พยานจำเลยทั้งสองได้ความว่า พยานและนายภาคภูมิได้ร่วมเดินทางไปที่บ้านของนายนิรัญด้วย และมีนายวรวัฒน์ขับรถจักรยานยนต์ตีประกบคู่กับจำเลยทั้งสอง ไม่ทราบว่าคุยอะไรกันซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของเด็กชายภานุเดช และของกลางที่ร้อยตำรวจโทสุพิศยึดได้จากในบ้านของจำเลยทั้งสองคือหมวกนิรภัยและเสื้อเชิ้ตคอกลมสีฟ้ากับเสื้อแขนยาวสีดำ โดยจำเลยที่ 1 รับว่านายวรวัฒน์ได้ไปที่บ้านของจำเลยทั้งสองแล้วถอดหมวกกับเสื้อดังกล่าวก่อนหลบหนีไป ตามข้อความในบันทึกตรวจยึดและบัญชีของกลางคดีอาญา ร้อยตำรวจโทสุพิศและพันตำรวจโทวรรณะจัดทำขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 ลงชื่อไว้ แม้ข้อความดังกล่าวจะเป็นถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 ให้ไว้ต่อร้อยตำรวจโทสุพิศผู้จับกุม และพันตำรวจโทวรรณะพนักงานสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่า แต่ร้อยตำรวจโทสุพิศและพันตำรวจโทวรรณะต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐไม่เคยรู้จักจำเลยทั้งสองมาก่อน และได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบแล้ว ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานเช่นว่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ พยานหลักฐานดังกล่าวจึงรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (1) เมื่อประกอบกับคำเบิกความของเด็กชายภานุเดชซึ่งเห็นเหตุการณ์ขณะคนร้ายที่สวมหมวกนิรภัยและใส่เสื้อลักษณะเดียวกับของกลางใช้อาวุธปืนยิงถูกผู้ตายแล้วมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปยังบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับนายวรวัฒน์แล้วจำเลยที่ 2 เรียกชื่อเล่นของนายนิรัญว่าปู เมื่อผู้ตายตะโกนว่าปูไม่อยู่ นายวรวัฒน์ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้านถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นจำเลยทั้งสองและนายวรวัฒน์พากันหลบหนีไป นายวรวัฒน์ไปถอดหมวกนิรภัยและเสื้อที่สวมใส่ในขณะก่อเหตุที่บ้านของจำเลยทั้งสองก่อนจะหลบหนีไป การกระทำของจำเลยทั้งสองบ่งชี้ว่ามีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับนายวรวัฒน์จึงเป็นตัวการร่วมกัน ส่วนสาเหตุแห่งการกระทำผิดได้ความจากนายนิรัญว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ฝากเงิน 2,800 บาท ให้นายวรรัตน์นำไปมอบให้นายนิรัญเพื่อซื้อเมทแอมเฟตามีน แต่นายนิรัญไม่ได้ซื้อและไม่มีเงินคืนให้ เมื่อนายวรวัฒน์กับจำเลยที่ 2 ไปทวงเงินจากนายนิรัญ นายนิรัญได้ตบหน้านายวรวัฒน์ เรื่องดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยทั้งสองซึ่งได้ความตามคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่าเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 และนายวรวัฒน์เกิดความแค้น จึงเตรียมการไปก่อเหตุดังกล่าวขึ้น แต่การที่นายวรวัฒน์ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ประตูบ้าน 2 นัด หลังจากผู้ตายตะโกนบอกว่าปูไม่อยู่ กระสุนปืนถูกผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น เป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกคนในบ้านถึงแก่ความตายเท่านั้น มิได้ประสงค์ต่อผลโดยตรงที่จะยิงให้ถูกนายนิรัญเนื่องจากมองไม่เห็นว่านายนิรัญอยู่ที่ใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงลงโทษได้ในฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยบุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใดบุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นจำคุกคนละ 20 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 90 บาท รวมเป็นจำคุกคนละ 20 ปี และปรับคนละ 90 บาท ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2