โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279, 283 ทวิ, 284, 317, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง, 283 ทวิ วรรคสอง, 284 วรรคแรก, 317 วรรคแรก วรรคสาม (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทวรรคแรก) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารโดยเด็กไม่ยินยอม กับฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 9 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเพื่อการอนาจารโดยเด็กไม่ยินยอมกับฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 279 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง พ. ผู้เสียหายที่ 2 เกิดวันที่ 1 มีนาคม 2537 เป็นบุตรของนาง ร. ผู้เสียหายที่ 1 กับนาย อ. ผู้เสียหายที่ 2 เรียนอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และร่วมทำกิจกรรมพิเศษเป็นนักร้องของโรงเรียน ส่วนจำเลยเป็นครูที่โรงเรียนและเป็นหัวหน้าวงดนตรีที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นนักร้องอยู่ วันเกิดเหตุเป็นวันเสาร์ เวลา 13 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 2 เดินทางจากบ้านไปที่โรงเรียนอนุบาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อร้องเพลงในงานแต่งงาน ระหว่างทางได้พบจำเลย จำเลยพาไปที่บ้านพักของจำเลย จากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 กลับมาที่โรงเรียนและร้องเพลงในงานแต่งงานจนแล้วเสร็จ ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ได้ร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท อ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชว่า จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 และพันตำรวจโท อ. เรียกตัวจำเลยมาแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายและกระทำอนาจารแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารและพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร จำเลยให้การปฏิเสธ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาได้หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความแตกต่างจากคำให้การชั้นสอบสวนนั้น เห็นว่า เป็นเพียงรายละเอียดและความแตกต่างกันตามที่จำเลยฎีกามิใช่ขัดแย้งกัน เพียงแต่เบิกความเสริมในรายละเอียดเพิ่มเติมจากที่ให้การในชั้นสอบสวนเท่านั้น ซึ่งขึ้นกับว่าพนักงานสอบสวนได้สอบถามผู้เสียหายทั้งสองแต่ละคนอย่างไรบ้าง ยังไม่อาจถือเป็นเหตุให้พยานโจทก์เสียไปถึงกับรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้
จำเลยฎีกาว่า การที่ผู้เสียหายที่ 2 จะแจ้งเหตุที่หมายเลข 191 แสดงว่าผู้เสียหายที่ 2 รู้และเข้าใจกฎหมายได้ดีว่าการกระทำของจำเลยเป็นเรื่องร้ายแรง แต่กลับนำสืบว่าผู้เสียหายที่ 1 ทราบเรื่องหลังเกิดเหตุนานนั้น เห็นว่า การที่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กอายุเพียง 10 ปี ถูกจำเลยกระทำอนาจารตามฟ้อง ที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า จะโทรศัพท์แจ้ง 191 ก็เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจมาช่วยผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านของจำเลยมิได้มีความหมายว่า ผู้เสียหายที่ 2 รู้ข้อกฎหมายเป็นอย่างดีตามที่จำเลยฎีกา สำหรับเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้บอกมารดาคือผู้เสียหายที่ 1 และบิดาในทันทีที่มารดาและบิดามารับออกจากงานแต่งงานที่ผู้เสียหายไปร้องเพลงในวันเกิดเหตุนั้น ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความชัดเจนว่า เนื่องจากเกรงว่าตัวเองจะมีความผิดและบิดามารดาจะเสียใจ ซึ่งเป็นสิ่งปกติที่เด็กในวัยของผู้เสียหายที่ 2 จะคิดเช่นนั้นได้ มากกว่าที่จะบอกบิดามารดาเพื่อหวังผลในทางคดี ส่วนผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ร้องกรี๊ดในรถยนต์ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นมารดาไม่ได้สอบถามความผิดปกตินี้ ก็หาใช่เป็นพิรุธแต่อย่างใดไม่ เพราะเรื่องเช่นนี้หากผู้เสียหายที่ 2 ไม่บอก ผู้เสียหายที่ 1 และบิดาย่อมไม่มีทางล่วงรู้ว่าเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายที่ 2 อย่างไร เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 และพฤติการณ์ของจำเลยตามทางนำสืบของโจทก์ ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 ไปถึงโรงเรียนอันเป็นสถานที่จัดงานแต่งงานแล้ว ซึ่งจำเลยสามารถให้ผู้เสียหายที่ 2 รอที่โรงเรียนได้ไม่จำเป็นต้องพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านของจำเลย ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายที่ 2 ก็ไม่ได้ช่วยขนเครื่องดนตรีให้จำเลยแต่อย่างใด แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยว่าวางแผนที่จะกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 หาใช่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 ไปด้วยกันที่บ้านของจำเลยด้วยเหตุบังเอิญดังที่จำเลยฎีกา จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปกอด จูบ ดูดหัวนมและจูบอวัยวะเพศ อันเป็นการพาไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม โดยไม่ได้บรรยายว่ามีการขู่เข็ญ หรือใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้อุบายหลอกลวง ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ที่โจทก์มีคำขอให้ลงโทษไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ส่วนโทษและนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8