โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 276
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสาว ว. ผู้เสียหาย โดยนาย ท. ผู้แทนเฉพาะคดี ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง เป็นค่าเสื่อมเสียต่อเกียรติของผู้หญิงและได้รับความเสื่อมเสียอับอายขายหน้า 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้กระทำความผิดจึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ขอถอนคำให้การเดิมและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องคนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 60,000 บาท ผู้ร้องไม่ประสงค์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ตามคำร้องอีกต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 20 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 จำคุกคนละ 12 ปี 16 เดือน ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งห้าอายุไม่เกิน 20 ปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 5 คนละ 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 5 ปี และให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ชำระค่าสินไหมทดแทนคนละ 20,000 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์และยกคำร้องของผู้ร้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งห้าไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กับนาย ท. ซึ่งเป็นเยาวชน ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรานางสาว ว. ผู้ร้อง อายุ 15 ปีเศษ โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและผู้ร้องอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ในการที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือไม่ เห็นว่า ที่ผู้ร้องเบิกความว่า นอกจากจำเลยที่ 1 แล้ว ยังมีคนร้ายอีก 3 คน ข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้อง เป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และนาย ท. ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพิษณุโลก จึงรับฟังได้ว่า คนร้ายอีก 3 คน ที่ข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องก็คือ จำเลยที่ 3 ที่ 4 และนาย ท. นั่นเอง ส่วนที่ผู้ร้องเบิกความว่า ภายในห้องที่เกิดเหตุมีคนร้ายมากกว่า 2 คน เพราะได้ยินเสียงพูดคุยกัน จำเสียงได้แน่นอนคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และนาย ท. แต่จำเลยที่ 5 จำไม่ได้เพราะไม่คุ้นเสียง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะภายในห้องที่เกิดเหตุมืดไม่มีแสงสว่างมองไม่เห็นกัน ได้ยินเพียงเสียงเท่านั้น โดยผู้ร้องมิได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 5 อยู่ในห้องที่เกิดเหตุในขณะที่ผู้ร้องถูกจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และนาย ท. ข่มขืนกระทำชำเรา แต่ที่ผู้ร้องเบิกความว่า ในห้องที่เกิดเหตุได้ยินเสียงพูดคุยกันจำเสียงได้ว่าเป็นเสียงของจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งแตกต่างจากคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องให้การว่าจำเสียงจำเลยที่ 1 ได้เพียงคนเดียว บุคคลอื่นที่อยู่ในห้องที่เกิดเหตุไม่สามารถจำเสียงได้ ผู้ร้องทราบเพียงว่าคนร้ายมีมากกว่า 2 คน ทั้งยังให้การด้วยว่าในขณะที่ถูกข่มขืนกระทำชำเราไม่มีผู้ใดช่วยจับแขนจับขาของผู้ร้อง ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้ร้องเบิกความว่าจำคนร้ายได้เพียงคนเดียวคือจำเลยที่ 1 เท่านั้น ส่วนคนร้ายอื่นผู้ร้องทราบจากนาย อ. ว่าบุคคลที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และนาย ท. ซึ่งในข้อนี้นาย อ. เบิกความว่า ในขณะที่รอผู้ร้องอยู่ที่หน้าห้องน้ำ จำเลยที่ 1 และที่ 3 เดินเข้ามาในบ้านแล้วบอกนาย อ. ให้ไปรออยู่นอกบ้าน นาย อ. เดินออกไปปัสสาวะที่ข้างบ้านแล้วกลับมาที่โต๊ะอาหารพบจำเลยที่ 4 นั่งอยู่ใกล้กับกระถางต้นไม้ แต่ไม่พบจำเลยที่ 2 ที่ 5 และนาย ท. นาย อ. สนทนากับจำเลยที่ 4 เพียงครู่เดียวจำเลยที่ 4 ก็เดินเข้าไปในบ้านเกิดเหตุ หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที เห็นจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เดินออกมาจากบ้านเกิดเหตุมาสนทนากับนาย อ. ได้เพียงครู่เดียว จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เดินกลับเข้าไปในบ้านเกิดเหตุอีกครั้งหนึ่งโดยปิดประตูหน้าบ้านไว้ นาย อ. ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุด้วยแต่อย่างใด ส่วนที่นาย อ. เบิกความว่าจำเลยที่ 5 เดินออกมาจากบ้านเกิดเหตุพร้อมจำเลยที่ 3 และที่ 4 หลังจากนาย อ. สนทนาด้วยเพียงครู่เดียวจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ก็กลับเข้าไปในบ้านเกิดเหตุอีกครั้งหนึ่งนั้น นาย อ. ไม่เห็นเหตุการณ์ ในขณะที่จำเลยที่ 5 อยู่ในบ้านเกิดเหตุ ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 5 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวก โดยทำหน้าที่คอยดูต้นทางเพื่อมิให้เพื่อนและยายของจำเลยที่ 1 มาขัดขวางการที่จำเลยที่ 1 กับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้อง หรือจำเลยที่ 5 ช่วยจับแขนจับขาผู้ร้องให้ความสะดวกแก่การที่จำเลยที่ 1 กับพวกข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้อง อีกทั้งไม่ได้ยืนยันมั่งคงว่า จำเลยที่ 5 เมื่อเข้าไปในบ้านเกิดเหตุแล้วได้เข้าไปอยู่ในห้องที่เกิดเหตุด้วย ในขณะที่นาย ด. เบิกความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 นั่งอยู่ที่โต๊ะอาหารด้วยกันกับนาย ด. ส่วนบุคคลทั้งสองจะเข้าไปในบ้านเกิดเหตุหรือไม่ นาย ด. ไม่ทราบ แม้คำเบิกความดังกล่าวจะขัดแย้งกับคำให้การของนาย ด. ในชั้นสอบสวน ซึ่งนาย ด. ให้การว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 เดินตามเข้าไปด้วยก็ตาม แต่นาย ด. ก็เบิกความอธิบายว่าหมายถึงเดินตามเข้าไปในบ้านเท่านั้น มิได้หมายความว่า เดินตามเข้าไปในห้องที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ อาจไปเข้าห้องน้ำตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 เบิกความก็เป็นได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้ร้องอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้น ให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 5 และให้ยกคำขอของผู้ร้องในคดีส่วนแพ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 5 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่า ควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนก็ตาม แต่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรณีร้ายแรง ขัดต่อศีลธรรมและมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ก่อให้เกิดมลทินมัวหมองติดตัวผู้ร้องซึ่งในขณะเกิดเหตุอายุเพียง 15 ปีเศษ เป็นการยากที่จะเยียวยาให้กลับคืนมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และแม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องก็เพียงคนละ 20,000 บาท อันเป็นค่าเสียหายทางแพ่งที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อผู้ร้องอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น แต่โทษที่ลงแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นั้นหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษให้เบาลง
อนึ่ง การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 เป็นการลดมาตราส่วนโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น มิใช่ลดมาตราส่วนโทษจากโทษที่ศาลกำหนด การที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 20 ปีแล้วจึงลดมาตราส่วนโทษจากโทษจำคุกที่กำหนดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คนละกึ่งหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ถูกต้องลดมาตราส่วนโทษจากโทษที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 276 วรรคสาม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 53 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 8 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ