คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2544 ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งยืนยันหนี้ให้ผู้ร้องชำระหนี้ตามสัญญาแต่งตั้งและหรือมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์และเปิดบัญชีเดินสะพัดจำนวน 552,055.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 295,048.47 บาท นับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
วันที่ 24 ตุลาคม 2550 ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลายกลาง ศาลล้มละลายกลางตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2550 ว่าให้ผู้ร้องทำเป็นคดีสาขาเข้ามาใหม่ภายใน 15 วัน ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2551 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนและสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้ โดยใช้แบบพิมพ์ (ล.27) ซึ่งเป็นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (คดีสาขา) ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า ผู้ร้องไม่ทำคำร้องแบบคดีสาขาเข้ามาภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลสั่ง จึงไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยใช้แบบพิมพ์คำร้อง เป็นการผิดข้อกำหนดคดีล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้บุคคลที่ได้รับหนังสือแจ้งความยืนยันหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถยื่นคำคัดค้านต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความยืนยัน อันเป็นบททั่วไป แต่เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 อันเป็นบทกฎหมายที่ตราขึ้นในภายหลังเพื่อใช้ในกระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายโดยเฉพาะ บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางในการออกข้อกำหนดใด ๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลล้มละลาย เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม และอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางโดยความเห็นชอบจากประธานศาลฎีกาได้ออกข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 เพื่อใช้บังคับในศาลล้มละลายและศาลอื่นที่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนศาลล้มละลาย มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2542 ข้อกำหนดดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับแล้ว และในข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ข้อ 25 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอาจประกาศใช้แบบพิมพ์ใด ๆ สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายได้ ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางโดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ออกประกาศศาลล้มละลายกลาง ที่ 1/2542 เรื่อง แบบพิมพ์ของศาลล้มละลายกลาง กำหนดแบบพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายใช้แบบพิมพ์ท้ายประกาศ ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไป สำหรับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (คดีสาขา) ซึ่งรวมถึงการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกรณีนี้ อันเป็นการขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือยืนยันหนี้ ตามประกาศกำหนดให้ใช้แบบพิมพ์ ล.27 ซึ่งเป็นประกาศที่ใช้กับบุคคลทั่วไปมิใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ แม้ต่อมามีข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2549 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2549 ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ก็ตาม แต่ในข้อ 31 วรรคหนึ่ง ยังคงให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอาจประกาศใช้แบบพิมพ์ใดๆ สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายได้ ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางมิได้ประกาศใช้แบบพิมพ์เป็นอย่างอื่น ประกาศดังกล่าวจึงมีผลบังคับได้เช่นเดิม ผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความในคดีจึงต้องถือปฏิบัติตามข้อกำหนดและประกาศดังกล่าว ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าข้อกำหนดคดีล้มละลายยังเปิดกว้างว่า คู่ความอาจจัดทำเอกสารตามรูปแบบพิมพ์นั้นด้วยวิธีการใด ๆ โดยไม่จำต้องใช้กระดาษแบบพิมพ์ตามที่ศาลจัดไว้ให้ก็ได้นั้น ก็เป็นการเปิดช่องให้ผู้ร้องสามารถจัดทำเอกสารขึ้นใช้เองได้โดยไม่จำต้องใช้แบบพิมพ์ที่ศาลจัดไว้ให้ แต่การจัดทำก็ต้องเป็นไปตามรูปแบบแห่งแบบพิมพ์ที่ศาลกำหนด ใช่ว่าจะทำแบบใด ๆ ที่มีรูปแบบแตกต่างออกไปเช่นไรก็ได้ตามที่ผู้ร้องต้องการหรือทำเป็นแบบพิมพ์อื่น ๆ ที่รูปแบบไม่ตรงกับที่ศาลกำหนดไม่ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องประสงค์จะขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือยืนยันหนี้ ผู้ร้องต้องใช้แบบพิมพ์ ล.27 หรือเอกสารที่มีรูปแบบแห่งแบบพิมพ์อย่างเดียวกัน ตามที่ศาลล้มละลายกลางกำหนดไว้ การที่ผู้ร้องใช้แบบพิมพ์ ล.8 อันเป็นแบบพิมพ์สำหรับคำร้องทั่วไป และมีรูปแบบแตกต่างจากแบบพิมพ์ ล.27 จึงเป็นการผิดข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2549 เมื่อศาลล้มละลายกลางตรวจพบในชั้นตรวจคำคู่ความจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขมาใหม่ให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดได้
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ