โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 2,745,549.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,507,293.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,295,259 บาท นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และของต้นเงินจำนวน 212,034.20 บาท นับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาเหล็กเส้นจำนวน 212,034.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารตึก 4 ชั้น พร้อมดาดฟ้า กำหนดแล้วเสร็จภายใน 365 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2560 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2561 หากไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ยินยอมให้ปรับวันละ 2,000 บาท ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง โจทก์ก่อสร้างและส่งมอบงานให้จำเลยที่ 1 ไป 3 งวด และได้รับค่าจ้างแล้ว ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามหนังสือขอยกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ได้นำเหล็กเส้นราคา 212,034.20 บาท ที่โจทก์เก็บไว้ที่บริเวณที่พักคนงานไป สำหรับปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างงานบางส่วนของงานงวดที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นเงิน 1,295,259 บาท จากจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ และยกฟ้องโจทก์สำหรับค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์และโอกาส และยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในปัญหาดังกล่าว คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้ง ปัญหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาเหล็กเส้นที่จำเลยที่ 1 นำไปหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับเหมาก่อสร้างและได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับจำเลยที่ 1 โดยมีการทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างและมีสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างเป็นพยานหลักฐานสนับสนุน โจทก์กล่าวอ้างว่าเหล็กเส้นที่อยู่ในที่พักคนงานของโจทก์นั้นโจทก์เตรียมไว้ใช้ในการก่อสร้างอีกสัญญาหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ที่ก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 แต่โจทก์กลับไม่มีรายละเอียดของสัญญาและไม่มีหนังสือสัญญารับจ้างก่อสร้างดังเช่นที่ทำกับจำเลยที่ 1 มานำสืบสนับสนุนแสดงให้เห็นจริงตามที่กล่าวอ้าง ทั้ง ๆ ที่โจทก์ดำเนินธุรกิจในรูปบริษัทจำกัดซึ่งจะต้องมีระเบียบแบบแผนและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง จึงมีพิรุธ ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นายศักดิ์สิทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่าโจทก์ไม่มีสถานที่จัดเก็บวัสดุจึงเช่าพื้นที่โรงเรียนเป็นที่จัดเก็บพัสดุ เหล็กเส้นที่จำเลยที่ 1 นำออกไปนั้น พยานทราบว่านำไปใช้ต่อในอีกโครงการที่โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ไม่แล้วเสร็จ เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ทำให้พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานที่ที่โจทก์วางเหล็กเส้นไว้นั้นอยู่ห่างจากสถานที่ก่อสร้างเพียง 400 ถึง 500 เมตร เท่านั้น ถือว่าไม่ไกลนัก มีความสะดวกที่โจทก์จะนำเหล็กเส้นไปใช้ก่อสร้างตามสัญญาจ้างที่ทำกับจำเลยที่ 1 ทั้งโจทก์ยังใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่พักอาศัยคนงานของโจทก์อีกด้วย ข้อเท็จจริงดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าการที่โจทก์นำเหล็กเส้นไปวางไว้ ณ ที่ดังกล่าวก็เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างของโจทก์เอง หลังจากมีการเลิกสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 ก็นำเหล็กเส้นดังกล่าวไปใช้ต่อในโครงการที่โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างแต่ไม่แล้วเสร็จ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์ซื้อเหล็กเส้นมาด้วยเงินของโจทก์เอง เหล็กเส้นจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งหากเป็นเหล็กเส้นที่โจทก์จะนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างที่พิพาท โจทก์จะให้รถบรรทุกเหล็กเส้นยกลงบริเวณสถานที่ก่อสร้างแล้วนั้น ก็ขัดกับคำเบิกความของนายศักดิ์สิทธิ์ที่ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า โจทก์ไม่มีสถานที่จัดเก็บวัสดุที่ใช้ก่อสร้างจึงเช่าพื้นที่ของโรงเรียนเพื่อวางเหล็กเส้น ข้ออ้างของโจทก์จึงขัดต่อเหตุผล พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อได้ว่าโจทก์นำเหล็กเส้นมาใช้หรือเตรียมใช้ในการก่อสร้างอาคารให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญา เหล็กเส้นดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของการงานที่โจทก์ทำค้างไว้และเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำเหล็กเส้นดังกล่าวไป โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เหล็กเส้นที่จำเลยที่ 1 นำไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าว ได้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเอง และกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,295,259 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อัตราดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 นั้น ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ