โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ไปดำเนินการยื่นคำขอรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโฉนดที่ดินเลขที่ 3654 นำช่างทำการรังวัดสอบเขตที่ดินรอบแปลงคำนวณเนื้อที่ แบ่งแยกเป็นที่สาธารณประโยชน์ตามแปลงที่ 1 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 5 ที่ดินคงเหลือเนื้อที่เท่าใดให้นำช่างรังวัดแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยตามตำแหน่งในรูปแผนที่ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และเลข 5 และจำนวนเนื้อที่ให้เป็นไปตามที่ช่างรังวัดคำนวณเนื้อที่รูปแผนที่ในแต่ละแปลงตามอัตราส่วนที่แต่ละคนถือกรรมสิทธิ์รวม ทั้งนำช่างรังวัดปักหลักเขตแบ่งแยกทุกแปลงและจดทะเบียนแบ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม หากจำเลยคนหนึ่งคนใดหรือจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการตามคำขอดังกล่าว ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่ออกค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมในการรังวัดและจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่สำนักงานที่ดินเรียกเก็บตามอัตราส่วนที่ถือกรรมสิทธิ์รวม หากจำเลยทั้งสี่หรือจำเลยคนหนึ่งคนใดไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของจำเลยที่ไม่ปฏิบัติตาม
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งสี่ไปยื่นคำขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 3654 โดยแบ่งที่ดินตามสัดส่วนของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ตามรูปแผนที่ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3654 เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา มีโจทก์กับจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ในจำนวนสัดส่วนไม่เท่ากัน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำบันทึกถ้อยคำแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสงคราม โดยแบ่งที่ดินออกเป็น 6 แปลง ดังนี้ แปลงแยก 1 อยู่ตรงกลาง แบ่งหักเป็นถนนสาธารณประโยชน์ แปลงแยก 2 อยู่ทางทิศใต้ แบ่งหักเป็นถนนสาธารณประโยชน์ แปลงแยก 3 อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แปลงแยก 4 อยู่ถัดจากแยก 3 มาทางทิศตะวันออกเป็นของโจทก์ แปลงแยก 5 อยู่ทางทิศตะวันออกเป็นของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แปลงแยก 6 อยู่ถัดจากแยก 5 มาทางตะวันตกเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แปลงคงเหลืออยู่ตรงกลางระหว่างแยก 1 และแยก 6 เป็นของโจทก์ (รังวัดตามนำชี้) หากรูปแผนที่หรือเนื้อที่ต่างจากเดิมยินยอมให้แก้ไขได้ โดยมีโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ลงลายมือชื่อไว้ท้ายบันทึกดังกล่าว และมีรูปแผนที่ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 แปลงตามที่ตกลงกันอยู่ด้านหลัง ตามสำเนาบันทึกถ้อยคำเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งหักที่สาธาณประโยชน์ (ตามนำชี้) ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ช่างรังวัดออกไปทำการรังวัดเพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามบันทึกดังกล่าว ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถตกลงแนวเขตเพื่อแบ่งที่ดินกันได้ ครั้นวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงทำบันทึกถ้อยคำแบ่งกรรมสิทธิ์รวมต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสงครามอีกครั้ง โดยตกลงแบ่งที่ดินออกเป็น 6 แปลง เช่นเดียวกับการตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในครั้งแรก จากนั้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ช่างรังวัดออกไปทำการรังวัดเพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามบันทึกดังกล่าวอีกครั้ง ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถตกลงแนวเขตเพื่อแบ่งที่ดินกันได้เช่นเดิม ในระหว่างการพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสงครามรังวัดทำแผนที่พิพาท ได้ความว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 11 ไร่ 75 ตารางวา น้อยกว่าที่ระบุในโฉนดที่ดิน ทางราชการมีการตัดถนนสายบ้านตะวันจาก - บางสะใภ้ ผ่ากลางที่ดินพิพาท และตัดถนนบริเวณทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของที่ดินพิพาท โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ขอรังวัดแบ่งหักทางสาธารณประโยชน์ถนนสายบ้านตะวันจาก - บางสะใภ้ เป็นเนื้อที่ 1 งาน 54 ตารางวาเศษ ถนนทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเนื้อที่ 3 งาน 36 ตารางวาเศษ และขอรังวัดที่ดินทางด้านทิศตะวันตกหักเป็นแม่น้ำแม่กลอง เป็นเนื้อที่ 57 ตารางวาเศษ เมื่อหักทางสาธารณประโยชน์และแม่น้ำแม่กลองแล้ว ที่ดินพิพาทคงเหลือเนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวาเศษ ตามแผนที่พิพาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า บันทึกถ้อยคำเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ (ตามนำชี้) ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความที่สามารถใช้บังคับต่อกันได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า บันทึกถ้อยคำแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ (ตามนำชี้) เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสี่แบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามบันทึกดังกล่าวได้ เห็นว่า กรณีที่จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่บันทึกถ้อยคำเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ (ตามนำชี้) ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่มีข้อความทำนองเดียวกันว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสี่มีความประสงค์แบ่งที่ดินออกเป็น 6 ส่วน ส่วนใดแบ่งหักเป็นถนนสาธารณประโยชน์ ส่วนของเจ้าของรวมคนใดอยู่บริเวณส่วนใดของที่ดินพิพาทเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดในการตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมว่า ส่วนของเจ้าของรวมแต่ละคนมีแนวเขตตั้งแต่บริเวณใดถึงบริเวณใด จำนวนเนื้อที่เท่าใด นอกจากนี้หลังจากทำบันทึกถ้อยคำทั้งสองฉบับแล้ว ได้มีการไปรังวัดเพื่อแบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามบันทึกดังกล่าว 2 ครั้ง นางสาวปรียาภรณ์ ช่างรังวัด ทำบันทึกไว้ว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถตกลงแนวเขตแปลงแบ่งแยกกันได้ แสดงว่าการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ไม่ได้มีปัญหาว่าใครจะได้ที่ดินบริเวณส่วนใด แต่มีปัญหาว่าแนวเขตของแต่ละคนที่แบ่งกรรมสิทธิ์รวมจากบริเวณใดถึงบริเวณใด แต่ละคนจะได้ที่ดินจำนวนเนื้อที่เท่าใด ประกอบกับเมื่อมีการทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสี่นำชี้แนวเขตในการทำแผนที่พิพาทแบ่งที่ดินเป็น 10 แปลง ไม่ตรงกับที่โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงกันแบ่งเป็น 6 แปลง ตามที่ระบุในบันทึกถ้อยคำ และนางสาวปรียาภรณ์ยังได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า พยานออกไปรังวัดที่ดินพิพาทโดยมีผู้นำชี้ แต่เมื่อรังวัดแล้วเนื้อที่ไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมทุกฝ่าย ในการรังวัดนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีปัญหาในส่วนของที่ตั้งของที่ดิน แต่ไม่ตกลงในส่วนของเนื้อที่ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่สามารถตกลงกันได้เนื่องจากมีการปลูกบ้านและต้นมะพร้าวและมีทางออกสู่ถนน จากการที่พยานออกไปรังวัดเห็นได้ชัดว่ามีการแบ่งการแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสี่มีปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินและจำนวนเนื้อที่ดินที่ต่างคนต่างมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ไม่มีปัญหาว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ครอบครองบริเวณใดของที่ดินพิพาท บันทึกถ้อยคำเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์ (ตามนำชี้) ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ไม่มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยทั้งสี่แบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามบันทึกนั้นได้ ส่วนฎีกาอื่นของโจทก์เป็นข้อปลีกย่อยที่มิได้ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ