โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 362, 365
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางเพลินจิต ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 30,000 บาท ฐานบุกรุกเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองในความผิดกระทงแรกเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท เมื่อรวมกับความผิดของจำเลยที่ 2 ในกระทงที่สองแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 14 เดือน และปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 12,000 บาท ฐานบุกรุกเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 เดือน และปรับ 3,000 บาท อีกกระทงหนึ่ง รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือน และปรับ 15,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ต้องแยกพิจารณาโทษแต่ละกระทงเป็นเกณฑ์ คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข จำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 20,000 บาท และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานบุกรุกเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท อีกกระทงหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้โทษจำคุกจำเลยทั้งสองในความผิดกระทงแรกเป็นจำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 8,000 บาท และแก้โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในกระทงที่สองเป็นจำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยมิได้แก้บทความผิดด้วย เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกที่ดินของผู้เสียหายล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงใช้ที่ดินของผู้เสียหายเป็นทางผ่านออกถึงทางสาธารณะ แต่ผู้เสียหายปิดกั้นทาง ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถออกถึงทางสาธารณะได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้มีสิทธิที่จะทำทางผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยไม่จำต้องให้ศาลชี้ขาดเสียก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิที่จะได้ทางจำเป็น เพราะเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความของจำเลยที่ 1 เข้าไปรังวัดและถ่ายรูปบริเวณทางพิพาทในที่ดินของผู้เสียหายเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการฟ้องคดีแพ่งขอให้ผู้เสียหายเปิดทางจำเป็นจึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมายและไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย นั้น เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1394 และมาตรา 1350 จะบัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากสภาพความจริงในขณะนั้นว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วย ซึ่งจากข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่น และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมยังคงมีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงกันอยู่ว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกที่ดินของผู้เสียหายล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จริงหรือไม่ จึงจำต้องให้ศาลในคดีแพ่งชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่าตามสภาพของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเข้าเงื่อนไขเป็นทางจำเป็นซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะใช้ทางนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินของผู้เสียหายโดยพลการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุกตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน