คดีนี้เพื่อความสะดวกในการพิจารณาและพิพากษา ศาลชั้นต้นให้เรียก พันตรีหญิง น. ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 พันโท อ. ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 และสหกรณ์ ค. ว่า ผู้คัดค้านที่ 3
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้ห้องชุด 84 ห้อง พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้คืนห้องชุด 84 ห้อง หรือชดใช้ราคาแก่ผู้คัดค้านที่ 3
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนห้องชุด 84 ห้อง พร้อมดอกผล แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำห้องชุด 84 ห้อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเงิน 40,000,000 บาท หากขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ชดใช้คืนเพียงเท่าที่ขายได้ กรณีขายทอดตลาดได้เงินเกินจำนวนดังกล่าว ให้เงินส่วนที่เกินพร้อมดอกผล (ถ้ามี) ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 ผู้คัดค้านที่ 3 ร้องทุกข์กล่าวโทษนายศุภชัยกับพวกว่า ร่วมกันกระทำความผิดข้อหายักยอกเงินของผู้คัดค้านที่ 3 ด้วยการสั่งจ่ายเช็คของผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 878 ฉบับ แล้วนำไปเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 3 ทำให้ผู้คัดค้านที่ 3 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 12,402,907,158.01 บาท ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีที่นายศุภชัยกับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชน ยักยอกอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไว้เป็นคดีพิเศษหลายคดี รวมถึงคดีพิเศษที่ 146/2556 และที่ 64/2557 โดยคดีพิเศษที่ 64/2557 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายศุภชัยกับพวกเป็นจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ในฐานที่เป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนและลักทรัพย์นายศุภชัยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353, 354 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 706/2559 ของศาลอาญา สำหรับที่ดิน 36 แปลง ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งให้อายัดไว้ในคดีที่นายศุภชัยกับพวกถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา นายธาริตในฐานะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัด และคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายมีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ให้นายศุภชัยนำที่ดินที่อำเภอสีคิ้วดังกล่าวไปขายแล้วนำเงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว 100,000,000 บาท คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 โดยให้ดำเนินการโดยด่วนเนื่องจากปัจจุบันผู้คัดค้านที่ 3 ขาดสภาพคล่องและสมาชิกเดือดร้อนมาก หลังจากมีมติดังกล่าวปรากฏว่านายศุภชัยขายที่ดินทั้ง 36 แปลง ให้บริษัท พ. ได้เงิน 477,880,000 บาท โดยชำระเงินเป็นแคชเชียร์เช็ค 6 ฉบับ นายศุภชัยนำแคชเชียร์เช็ค 4 ฉบับ ชำระหนี้จำนอง ค่าธรรมเนียม และค่าภาษีในการทำนิติกรรม 128,095,511 บาท มอบคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 1 ฉบับ 100,000,000 บาท และมีการนำแคชเชียร์เช็คธนาคาร 1 ฉบับ จำนวนเงิน 249,784,489 บาท ซึ่งจ่ายเป็นค่าซื้อขายที่ดินดังกล่าวไปฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายศุภชัยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2557 แล้วมีการทำธุรกรรมถอนเงิน โอนเงิน และซื้อแคชเชียร์เช็คผ่านบัญชีดังกล่าวของนายศุภชัยรวม 11 รายการ โอนให้บุคคลภายนอก 8 ราย และมีการมอบแคชเชียร์เช็ค 3 ฉบับ ฉบับละ 20,000,000 บาท ให้แก่นายณฐพร เป็นค่านายหน้าจากการซื้อขายที่ดิน แต่มีแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับดังกล่าว ฉบับละ 20,000,000 บาท สลักหลังโอนให้แก่บุคคลอื่น และต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 มีการฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 ในระหว่างปี 2557 ถึงปี 2558 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำเงินจากบัญชีดังกล่าวไปซื้อห้องชุดที่จังหวัดนนทบุรี รวม 84 ห้อง เป็นชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 39 ห้อง ชื่อของผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 45 ห้อง ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากัน โดยผู้คัดค้านที่ 1 ย้ายมารับราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ผู้คัดค้านที่ 2 ย้ายมารับราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 นายธาริตมีคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ 594/2553 ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2553 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิบัติราชการที่สำนักงานอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษทำหน้าที่ในลักษณะเป็นเลขานุการของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษช่วยกลั่นกรองงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่า เป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งที่ 1782/2559 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 พักราชการผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 และดำเนินคดีผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 10, 60, 61 ตามสำนวนคดีพิเศษที่ 42/2559
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประการแรกว่า ความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556 มีผลบังคับย้อนหลังแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนหรือไม่ เห็นว่า มาตรา 49 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับ มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว" โดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ไม่ได้บัญญัติว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจะต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษเท่านั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่หากมีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ นอกจากนี้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็สามารถมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยเป็นมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนคนสุจริตทั่วไป จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ ดังนั้น แม้มีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ในภายหลังจากที่ได้มีการกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าวก็ตาม ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานนี้ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันทีนับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานอันบัญญัติเพิ่มเติมดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นปัญหานี้ชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประการต่อไปว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้นำห้องชุดพิพาท 84 ห้อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 40,000,000 บาท หากขายได้เกิน ส่วนที่เกินให้ตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่คืนห้องชุดพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ชอบหรือไม่ เห็นว่า มติที่ประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ครั้งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมในครั้งที่ 1/2556 และครั้งที่ 2/2556 โดยในการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2556 ตามสำเนารายงานการประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ครั้งที่ 1/2556 ในวาระเรื่องเพื่อพิจารณา ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย (ผู้คัดค้านที่ 3) โดยสรุปว่า ให้นำทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินที่พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อพิจารณามีมติเห็นชอบให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายรายคดีนายศุภชัยกับพวกออกขายเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน และในการประชุมครั้งที่ 2/2556 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ตามสำเนารายงานการประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ครั้งที่ 2/2556 ในวาระเรื่องเพื่อพิจารณา ที่ประชุมมีมติโดยสรุปว่า นายศุภชัยยินยอมที่จะขายที่ดินตามบัญชีรายการทรัพย์สินแนบท้าย โดยผู้แทนผู้คัดค้านที่ 3 มีความเห็นว่า ขณะนี้ผู้คัดค้านที่ 3 ขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นอย่างมาก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีเงินเข้ามาในระบบเพื่อแก้ปัญหาของผู้คัดค้านที่ 3 จึงเห็นชอบด้วยเพื่อเยียวยาความเสียหายของผู้คัดค้านที่ 3 นายศุภชัยแถลงว่าสามารถติดต่อผู้ซื้อที่ดินที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา โดยนำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าวมาแสดง จะมีการหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน ภาระหนี้จำนอง เป็นต้น เงินที่เหลือส่งคืนผู้คัดค้านที่ 3 เพื่อเยียวยาความเสียหายต่อไป และในการประชุมครั้งที่ 3/2556 ในวาระเรื่องเพื่อพิจารณา นายศุภชัยได้แจ้งที่ประชุมทราบว่าได้ติดต่อผู้มาซื้อที่ดินที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ได้แล้ว โดยราคาและค่าใช้จ่าย ตลอดจนจำนวนเงินที่จะส่งคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายนั้น ตกลงจะนำเงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว 100,000,000 บาท มอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และผู้แทนของผู้คัดค้านที่ 3 เห็นชอบด้วยตามยอดเงินดังกล่าว โดยจะทำการซื้อขายที่ดินดังกล่าวภายใน 7 วันทำการ นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำเนารายงานการประชุมดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า ที่ประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย มีมติเห็นชอบให้นายศุภชัยขายทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายรวมถึงที่ดินที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินดังกล่าวคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ซึ่งนายศุภชัยก็รับว่าจะนำเงินที่ขายที่ดินดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน ภาระหนี้จำนอง คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 3/2556 นายศุภชัยแถลงว่าเงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว จะเหลือประมาณ 100,000,000 บาท ที่จะมอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงหรือมติให้เงินที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าวในส่วนที่เหลือหากมีให้ตกเป็นของนายศุภชัยแต่อย่างใด ซึ่งคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายไม่อาจจะมีมติให้เงินที่เหลือจากการขายทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายตกเป็นของนายศุภชัยซึ่งเป็นจำเลย ทั้งนี้เพราะเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว" และในวรรคหก ที่บัญญัติว่า "ในกรณีตามวรรคหนึ่งถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินด้วยในคราวเดียวกัน และเมื่อศาลมีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ให้ผู้เสียหายตามวรรคนี้แล้ว ให้สำนักงานดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งศาลโดยเร็ว" ซึ่งตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว การดำเนินการต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นแผ่นดินหรือนำไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานเท่านั้น ไม่มีกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวจะกลับไปตกได้แก่จำเลยหรือผู้กระทำความผิดอีกเลย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ที่ประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจะมีมติให้เงินที่ได้จากการขายที่ดินที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา หลังจากหักค่าใช้จ่ายและส่งมอบให้ผู้คัดค้านที่ 3 จำนวน 100,000,000 บาท แล้ว ที่เหลือให้เป็นของนายศุภชัยตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้าง เมื่อที่ประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายครั้งที่ 3/2556 เพียงแต่มีมติให้นำเงินค่าขายที่ดินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว มอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานจึงชอบแล้ว ไม่ตกเป็นโมฆะตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย นอกจากนี้มติดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน แต่เป็นเรื่องที่คณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายมีมติให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดออกขายเพื่อนำเงินที่ได้มาคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมาย จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างแต่อย่างใด ส่วนที่ระบุว่าเงินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วเป็นจำนวน 100,000,000 บาท ก็เนื่องจากนายศุภชัยแถลงว่าเงินที่เหลือจะอยู่ที่ 100,000,000 บาท ต่อมาภายหลังหากเงินที่เหลือจากการขายที่ดินดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วมีเกินกว่า 100,000,000 บาท เงินส่วนที่เกินก็ต้องตกได้แก่ผู้เสียหายหรือตกเป็นของแผ่นดินแล้วแต่กรณี ทั้งในการประชุมคณะทำงานประสานงานในการดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายทั้งสามครั้งดังกล่าว ไม่ปรากฏว่านายศุภชัยได้แถลงต่อที่ประชุมว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นค่านายหน้าในการขายที่ดินแต่อย่างใด ดังนั้น เงินที่ได้จากการขายที่ดินตามแคชเชียร์เช็ค 2 ฉบับ ฉบับละ 20,000,000 บาท ที่โอนเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปซื้อห้องชุดพิพาท 84 ห้อง และตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ทราบดีว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินส่วนหนึ่งที่ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาของนายศุภชัยกับพวกที่เป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) (5) (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ห้องชุดพิพาท 84 ห้อง พร้อมดอกผลจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้มาโดยไม่สุจริตและเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีไม่มีเหตุที่จะคืนห้องชุดพิพาท 84 ห้อง ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นำห้องชุด 84 ห้อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชดใช้คืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเงิน 40,000,000 บาท หากขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวก็ชดใช้คืนเพียงเท่าที่ขายได้ กรณีขายทอดตลาดได้เงินเกินจำนวนดังกล่าว ให้เงินส่วนที่เกินพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำไปซื้อห้องชุด 84 ห้อง เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องเสียหายจากการกระทำความผิดอาญาของนายศุภชัยกับพวกที่เป็นความผิดมูลฐาน อันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น และผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เสียหายร้องขอให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืน ประกอบกับผู้ร้องไม่คัดค้าน กรณีจึงต้องคืนห้องชุด 84 ห้อง แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหก โดยไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านที่ 3 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 3 มีลักษณะเป็นคำร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ศาลชั้นต้นไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เพื่อให้มีโอกาสโต้แย้ง เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และการที่ผู้ร้องไม่ได้ขอให้คืนทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้านที่ 3 แสดงว่าผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ใช่ผู้เสียหาย รวมทั้งการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 3 เข้ามาในคดีโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เป็นการไม่ชอบ ขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 นั้น เห็นว่า ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ. 2558 ข้อ 6 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในเวลาที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา กำหนดว่า การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโดยต้องแสดงถึง (1) ปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายที่ขออนุญาตฎีกาโดยชัดแจ้ง และ (2) ปัญหาที่ขออนุญาตฎีกานั้นเป็นปัญหาสำคัญดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 249 หรือในข้อกำหนดนี้ ซึ่งศาลฎีกาควรรับวินิจฉัย คำร้องขออนุญาตฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ระบุถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวไว้ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะขออนุญาตฎีกาในประเด็นปัญหาดังกล่าว และปัญหาดังกล่าวได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ