โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เลขที่ ภงด 74.1-05110010-25480802-002-00001 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2548 หรือเลขที่ ภงด 74.1-01002071-25481110-002-00001 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เลขที่ ภงด 74.1-05110010-25480802-002-00002 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2548 เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ภญ. (อธ.1)/7/2552 หากศาลเห็นว่าโจทก์ควรต้องชำระภาษีตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เพียงใดแล้ว ขอให้งดเงินเพิ่มทั้งหมดให้แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์นำสืบเพียงว่า โจทก์ไม่เคยจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ตามบันทึกคำให้การชั้นตรวจสอบ ที่นางสาวสอางค์โฉมไปให้การต่อเจ้าพนักงานประเมินต่างระบุว่าโจทก์ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2545 ซึ่งนางสาวสอางค์โฉม เป็นผู้ชำระบัญชีของโจทก์ ย่อมมีความรู้ทางบัญชีและทราบความหมายของคำว่าเงินปันผลเป็นอย่างดี และมิได้โต้แย้งเจ้าพนักงานประเมินว่าถ้อยคำที่ระบุในเอกสารดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร กลับยอมลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การชั้นตรวจสอบทั้งสามฉบับ ทั้งในชั้นที่นางสาวสอางค์โฉมมาเบิกความต่อศาล นางสาวสอางค์โฉมก็มิได้เบิกความว่า บันทึกคำให้การของตนนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยว่า โจทก์ได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น 2,105,627.67 บาท จริง โดยปรากฏข้อเท็จจริงจากงบดุลว่า ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนเลิกบริษัท โจทก์มีกำไรสะสม 101,754,580.01 บาท ประกอบด้วยกำไรสะสมที่จัดสรรเป็นทุนสำรอง 950,003 บาท และกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร 100,805,577 บาท ซึ่งเงินกำไรสะสมดังกล่าวโจทก์ควรจะนำมาแบ่งปันให้แก่ผู้ถือหุ้นของโจทก์ แต่โจทก์กลับจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเพียง 2,105,627.67 บาท แล้วนำเงินกำไรสะสมจำนวนมากถึง 99,000,000 บาท ไปจ่ายเป็นเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทเอบีบี ดิสทรีบิวชั่น จำกัด และบริษัทเอบีบี เพาเวอร์ จำกัด โดยไม่ได้รับผลตอบแทน เพื่อให้บริษัททั้งสองนำไปชำระหนี้แก่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ทั้งที่โจทก์ก็มิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินทั้งสอง และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับบริษัทผู้รับเงินทั้งสอง มีผู้ถือหุ้นใหญ่รายเดียวกัน คือ บริษัทอาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด หลังจากที่โจทก์จ่ายเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสอง บริษัทผู้รับเงินทั้งสองก็ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทในวันเดียวกันกับบริษัทโจทก์ ประกอบกับตามปกติก่อนการเลิกบริษัท หากโจทก์มีหนี้สินก็ควรนำเงินไปชำระหนี้ก่อนที่เหลือจึงนำมาแบ่งปันคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งการที่โจทก์จ่ายเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสอง ยังเป็นทางให้บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ผู้ถือหุ้นในโจทก์สัดส่วนร้อยละ 48.93 ขาดประโยชน์ที่พึงมีพึงได้จากกำไรสะสมที่โจทก์นำไปจ่ายเป็นเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสอง จำนวน 99,000,000 บาท ตามสัดส่วนที่บริษัทถือหุ้นคิดเป็นเงิน35,229,600 บาท และจำนวน 13,211,100 บาท ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่ามีเหตุสมควรอันใดที่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มีอำนาจบริหารในบริษัทโจทก์จะยอมให้โจทก์กระทำให้ตนต้องเสียเปรียบ ซึ่งหากในวันที่เลิกประกอบกิจการโจทก์นำกำไรสะสมจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสมาพันธรัฐสวิส โจทก์ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การที่โจทก์มิได้จ่ายเงินกำไรสะสมให้แก่บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด โดยตรงกลับใช้วิธีให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสองที่มีบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ถือหุ้นอยู่ก็เพื่อที่โจทก์จะได้ไม่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้บริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมจากกำไรสะสมที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสองตามสัดส่วนของการถือหุ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนทรัพย์สินของบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด อันอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ข) ที่จ่ายในประเทศไทย โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งจำเลยร้อยละ 10 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า มีเหตุสมควรลดหรืองดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์มีกำไรสะสมจำนวนมากสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ แต่โจทก์กลับนำกำไรสะสมไปจ่ายเป็นเงินสนับสนุนเป็นจำนวนถึง 99,000,000 บาท ให้แก่บริษัทผู้รับเงินทั้งสองที่มีบริษัทเอบีบี อาเซียอา บราวน์ โบเวอรี่ จำกัด ถือหุ้นอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรลดหรืองดเงินเพิ่มแก่โจทก์อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ