โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 268, 341 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 1,840,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3200/2558 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณานายธวัชชัย ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,530,833.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 2,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งทำนองเดียวกันขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83, 264 (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 83) จำคุกคนละ 2 ปี จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 5 ปี จำเลยที่ 2 จำคุก 3 ปี นับโทษของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3200/2558 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 1,840,000 บาท แก่โจทก์ร่วม ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกคำร้องขอในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า คดีนี้เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เสียจากสารบบความ และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว มิได้เป็นอันระงับไปเพราะเหตุที่โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ด้วย จึงให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 83 และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 เสียด้วย จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ออกเสียจากสารบบความ ยกคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 1,840,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมสำหรับจำเลยที่ 2 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามลำดับ นอกจากนั้น ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมในประการแรกว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยในส่วนของความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมสำหรับจำเลยที่ 3 เสียก่อน ในข้อนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องในข้อ 1 (ข) สรุปสาระสำคัญได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 จำเลยทั้งสามร่วมกันนำรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมไปใช้แสดงต่อโจทก์ร่วมว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 24932 เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 53 ตารางวา มีราคาประเมิน 7,530,000 บาท ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อ จึงได้ตกลงกับจำเลยทั้งสามและซื้อที่ดินแปลงนี้จากเจ้าของที่ดิน ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และบริษัท อ. ซึ่งถูกแอบอ้างว่าเป็นผู้จัดทำเอกสารรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าว ดังนี้ จากคำฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2558 ซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายเฉลิมชัยไปจดทะเบียนรับซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากเจ้าของที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง ในราคา 3,840,000 บาท สืบเนื่องจากโจทก์ร่วมเชื่อรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 นำมาแสดงต่อโจทก์ร่วมว่าที่ดินมีราคาสูงถึง 7,530,000 บาท เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย เพราะความจริงแล้วที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินเพียงตารางวาละ 5,500 บาท คิดทั้งแปลงเป็นเงิน 4,141,500 บาท เท่านั้น อย่างไรก็ดี ในทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเอกสารปลอมให้แก่โจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 หลังจากที่มีการจดทะเบียนซื้อขายแล้วทางแอปพลิเคชันไลน์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ บ่งชี้ชัดว่า เหตุที่โจทก์ร่วมตัดสินใจซื้อที่ดินในวันที่ 20 มีนาคม 2558 หามีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินซึ่งเป็นเอกสารปลอมดังกล่าวไม่ หากได้ความจากที่โจทก์ร่วมและนายเฉลิมชัยเบิกความเป็นพยานโจทก์และโจทก์ร่วมสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของโจทก์ร่วมขอร้องให้โจทก์ร่วมช่วยซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากที่ดินมีราคาสูง และบอกว่าอีก 6 เดือน ข้างหน้า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 1 จะมาขอซื้อที่ดินแปลงนี้คืนจากโจทก์ร่วมในราคา 4,320,000 บาท เพื่อนำไปใช้สร้างโรงงาน อันจะทำให้โจทก์ร่วมได้ผลตอบแทนจากส่วนต่างของราคาที่ดิน ทั้งโจทก์ร่วมและนายเฉลิมชัยต่างคนต่างไปดูที่ตั้งของที่ดินแปลงนี้ตามภาพวาดแผนที่ซึ่งจำเลยที่ 1 ส่งให้โจทก์ร่วมทางแอปพลิเคชันไลน์แล้ว เห็นตรงกันว่า เป็นทำเลที่ดีโดยที่ดินถมแล้วอยู่ติดถนนใหญ่ ใกล้กับห้างสรรพสินค้า ล. มีทางเชื่อมเข้าออกจากทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) การเดินทางสะดวก และมีบ้านเรือนปลูกอยู่ใกล้เคียงหลายหลัง จึงน่าจะมีราคากับทั้งคุ้มค่าและปลอดภัยหากจะรับซื้อไว้ ดังนั้น โจทก์ร่วมจึงตกลงซื้อที่ดินแปลงนี้ตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ หามีตอนใดที่โจทก์ร่วมเบิกความว่าจำเลยที่ 1 จะต้องนำเอกสารรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินของที่ดินมาแสดงต่อโจทก์ร่วมเสียก่อนเพื่อการตัดสินใจแต่อย่างใด ทั้งนี้ ยังได้ความต่อไปว่า หลังจากจดทะเบียนซื้อขายราว 2 เดือน โจทก์ร่วมทราบจากการตรวจสอบรังวัดที่ดินที่ซื้อมาพบว่าเป็นคนละแปลงกับที่ดินที่โจทก์ร่วมและนายเฉลิมชัยเคยไปดู กลับกลายเป็นว่าที่ดินแปลงที่ซื้อมาอยู่ในทำเลที่ไม่ดี ไม่ได้ถมดิน มีหนองน้ำ สภาพเป็นป่ารก ถนนทางเข้ามีขนาดเล็ก ไม่ค่อยมีบ้านเรือนประชาชน การเดินทางลำบาก จนกระทั่งครบกำหนดวันที่ 20 กันยายน 2558 ซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงจะซื้อที่ดินแปลงเดียวกันนี้ต่อจากโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มาติดต่อกับโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมสนทนาทางแอปพลิเคชันไลน์กับจำเลยที่ 1 ในเรื่องดังกล่าว จากนั้น วันที่ 24 กันยายน 2558 จำเลยที่ 1 จึงส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินของที่ดินแปลงที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ร่วมทางแอปพลิเคชันไลน์ ดังนี้ เมื่อตรวจดูรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวปรากฏว่าลงวันที่ 11 มิถุนายน 2558 อันเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่โจทก์ร่วมทราบความจริงว่าซื้อที่ดินผิดแปลงแล้ว ทำให้เชื่อว่าโจทก์ร่วมเร่งรัดจำเลยที่ 1 ให้ส่งรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินของที่ดินที่ซื้อผิดแปลงมาให้แก่โจทก์ร่วม ด้วยประสงค์จะทราบมูลค่าที่ดินแปลงที่ซื้อผิดมานี้เพื่อประเมินความเสียหายอันเกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการซื้อที่ดินเป็นข้อสาระสำคัญ ฉะนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินปลอมที่นำมาใช้อ้างต่อโจทก์ร่วมอันพิจารณาได้ความเช่นนี้ จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายไว้ในฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เกิดการกระทำความผิดและวัตถุประสงค์ของการใช้รายงานประเมินมูลค่าทรัพย์สินปลอม ซึ่งข้อแตกต่างดังกล่าวถือได้ว่าเป็นข้อสาระสำคัญเนื่องจากเป็นการกระทำความผิดคนละวันเวลาและมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดไม่เหมือนกันอันอาจเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ได้ กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมนี้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมในประการสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานฉ้อโกงสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จากที่ร่วมกันหลอกลวงนำที่ดินโฉนดเลขที่ 24932 ซึ่งมิใช่ที่ดินซึ่งตกลงซื้อขายกันแต่แรก มาขายให้แก่โจทก์ร่วมโดยทุจริตขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ ข้อนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องสรุปสาระสำคัญได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมด้วยการนำที่ดินโฉนดเลขที่ 24932 อันมิใช่ที่ดินแปลงที่ตกลงซื้อขายกันแต่แรก มาขายให้แก่โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน จึงจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ในราคา 3,840,000 บาท และชำระเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นเงิน 2,000,000 บาท ส่วนอีก 1,840,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งรับไว้โดยทุจริต ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์และโจทก์ร่วมยืนยันในข้อเท็จจริงอันตนอาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเจตนานำที่ดินผิดแปลงมาจดทะเบียนขายให้แก่โจทก์ร่วมอันถือเป็นการฉ้อโกงโจทก์ร่วม จึงมีผลเท่ากับว่าโจทก์ร่วมไม่มีความประสงค์จะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 24932 มาตั้งแต่ต้น สมดังที่โจทก์ร่วมเบิกความตอบโจทก์ถามติงไว้ตอนหนึ่งว่า หากทราบว่าที่ดินที่ซื้อขายกันไม่ใช่ที่ดินแปลงที่โจทก์ร่วมและนายเฉลิมชัยเคยไปดูที่ตั้ง โจทก์ร่วมก็จะไม่รับซื้อ และภายหลังเมื่อจดทะเบียนซื้อขายกันในวันที่ 20 มีนาคม 2558 แล้วประมาณ 2 เดือน โจทก์ร่วมค่อยทราบว่าเป็นที่ดินคนละแปลงกัน โจทก์ร่วมโวยวายและต่อว่าจำเลยที่ 1 กรณีเช่นนี้ ย่อมต้องถือว่าในทันทีที่โจทก์ร่วมทราบว่าซื้อที่ดินผิดแปลงมา โจทก์ร่วมได้รู้แล้วว่าถูกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหลอกลวงดังข้อกล่าวหาในฟ้องซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมยืนยันพฤติการณ์กระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้ข้างต้น โจทก์ร่วมจะฎีกาอ้างว่า เมื่อทราบเรื่องที่ซื้อที่ดินผิดแปลงจากนายเฉลิมชัย โจทก์ร่วมบอกนายเฉลิมชัยว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจำเลยที่ 2 ก็มาซื้อกลับไปในวันที่ 20 กันยายน 2558 ตามที่ตกลงกันไว้ในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเป็นการแสดงว่าโจทก์ร่วมยังหวังว่าจำเลยที่ 2 จะปฏิบัติตามสัญญา กรณีเป็นการไม่แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่ อายุความจึงยังไม่เริ่มต้นนับนั้นหาได้ไม่ เพราะหากโจทก์ร่วมไม่ติดใจเรื่องที่ซื้อที่ดินผิดแปลงย่อมแสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ถือว่าการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันขายที่ดินผิดแปลงเป็นการฉ้อโกงโจทก์ร่วมมาแต่ต้น หากแต่ความต้องการของโจทก์ร่วมก็คือให้จำเลยที่ 2 มาดำเนินการซื้อที่ดินจากโจทก์ร่วมตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกันเท่านั้น ดังนี้ เมื่อในที่สุดแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 2 บ่ายเบี่ยง กรณีก็เป็นเรื่องของการผิดสัญญาในทางแพ่ง โจทก์ร่วมจะย้อนกลับไปถือเอาว่าการรับซื้อที่ดินผิดแปลงของตนเป็นการถูกฉ้อโกงอีกมิได้ เช่นนี้ เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมยืนยันข้อเท็จจริงชัดเจนแล้วว่าการนำที่ดินผิดแปลงมาขายให้แก่โจทก์ร่วมถือเป็นฉ้อโกง ฉะนั้น เมื่อโจทก์ร่วมทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อให้นายเฉลิมชัยดำเนินการรังวัดตรวจสอบที่ดินหลังจากวันจดทะเบียนซื้อขายประมาณ 2 เดือน ด้วยเหตุนี้ อย่างช้าที่สุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 ก็ต้องถือว่าโจทก์ร่วมรู้แล้วว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อที่ดิน และจำเลยที่ 3 ซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย ร่วมกันหลอกลวงนำที่ดินผิดแปลงมาขายให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมจึงต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2558 แต่โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์เมื่อเดือนธันวาคม 2558 จึงเกินกำหนดเวลาสามเดือนแล้ว คดีโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและยกคำขอให้คืนเงินแก่โจทก์ร่วมมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำขอของผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม" ที่โจทก์ร่วมชำระค่าขึ้นศาลในคดีส่วนแพ่งและศาลชั้นต้นรับมาจึงเป็นการไม่ชอบ ต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้โจทก์ร่วม
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ