โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่า โจทก์กลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่เพื่อบีบบังคับให้ออกจากงานเนื่องจากลูกจ้างทั้งเก้าคนเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน จำเลยได้พิจารณาคำร้องของลูกจ้างไปฝ่ายเดียว เพราะโจทก์ไม่อาจไปให้ถ้อยคำได้เนื่องจากภารกิจต้องนำสินค้าไปต่างประเทศ จำเลยให้โจทก์รับลูกจ้างที่ยื่นคำร้องกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมซึ่งเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่ได้กลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ของลูกจ้าง เหตุเลิกจ้างเป็นเพราะลูกจ้างจงใจฝ่าฝืนคำสั่งทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลย
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การว่า กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์จงใจขัดขืนไม่ยอมไปพบและไม่ให้ความร่วมมือ จำเลยมีคำสั่งโดยอาศัยถ้อยคำและเอกสารจากนายบุญนาค ผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้จัดการโจทก์ หาได้รับฟังข้อเท็จจริงจากลูกจ้างผู้ยื่นคำร้องไม่ คำสั่งของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสิบสี่
จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ชั้นวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น โจทก์มิได้นำสืบข้อเท็จจริงต่อจำเลยทั้งสิบสี่ผู้เป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ต่อเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วโจทก์จึงนำสืบข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณา โจทก์หามีอำนาจนำสืบข้อเท็จจริงเช่นว่าไม่ เพราะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๘ เมื่อโจทก์นำสืบ จำเลยไม่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงเช่นว่านั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๘ ซึ่งเป็นการพิจารณาข้อพิพาทของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามที่จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์นั้น หาอาจจะนำมาปรับแก่คดีนี้ได้ไม่ เพราะบทมาตราดังกล่าวเป็นเรื่องของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เจตนารมณ์ของบทมาตราดังกล่าวเป็นประการใด ขั้นตอนในการพิจารณาข้อพิพาทเป็นประการใด ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยสำหรับคดีนี้ คดีนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดคำร้องเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา ๔๑ มาตรา ๑๒๑ และมาตรา ๑๒๔ ดังจะเห็นได้จากคำสั่งที่ ๑๗-๑๘/๒๕๓๐ ของจำเลยทั้งสิบสี่ท้ายคำฟ้อง กรณีจึงต้องปรับด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๓ อันว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อันเป็นบทมาตราโดยเฉพาะ แม้จำเลยทั้งสิบสี่อ้างบทมาตราคลาดเคลื่อนตามที่กล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวเพื่อเป็นการปลดเปลื้องข้อสงสัยของจำเลยทั้งสิบสี่ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๔๓ เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารสำหรับการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับการวินิจฉัยชี้ขาด ตามมาตรา ๔๑ แต่มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ก็หาได้บัญญัติว่าข้อเท็จจริงที่ได้มาตามมาตรา ๔๓ ถือเป็นยุติไม่ เมื่อผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหานำคดีไปสู่ศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคท้ายแล้ว ที่จำเลยอ้างว่าข้อเท็จจริงจะต้องถือตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คู่ความจะนำสืบนอกกว่านั้นไม่ได้ ความที่ว่ามาทั้งนั้นไม่มีปรากฏในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ ณ ที่ใดเลย ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ดังนั้น ผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา ผู้เป็นคู่ความจึงย่อมจะนำสืบข้อเท็จจริงได้ทุกอย่างทุกประการ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์และให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามความต้องการของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา ๔๔ และมาตรา ๔๕ อนึ่ง การสืบพยานในคดีแรงงานก็แตกต่างกว่าคดีแพ่งสามัญดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา ๔๕ วรรคสองที่ว่า ในการสืบพยานไม่ว่าจะเป็นพยานที่คู่ความฝ่ายใดอ้างหรือที่ศาลแรงงานเรียกมาเอง ให้ศาลแรงงานเป็นผู้ซักถามพยานตัวความหรือทนายความจะซักถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน การที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงทั้งหลายในคดีนี้ได้นั้น ย่อมถือได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตแล้วเพราะศาลแรงงานกลางต้องการได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ และเพื่อจะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ศาลฎีกา เห็นว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาได้เพราะเป็นการนำสืบในประเด็นโดยตรงตามประเด็นข้อ ๒ ที่ว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ ๑๗-๑๘/๒๕๓๐ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๐ หรือไม่ เพียงใด และจำเลยทั้งสิบสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อเท็จจริที่โจทก์นำสืบไว้แล้วนั้น
พิพากษายืน