โจทก์ฟ้องความว่าที่ดินพิพาท (มีโฉนด) เดิมเป็นของนายสมัยนายสมัยขายให้นายเล็ก นายเล็กขายให้โจทก์โดยมิได้โอนโฉนดกันเลยซึ่งโจทก์ได้ครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสิทธิ ต่อมาวันที่ 5 กันยายน2504 โจทก์ทราบว่านายสมัยเจ้าของเดิมได้นำโฉนดที่ดินพิพาทไปทำสัญญาขายให้จำเลย จึงฟ้องขอให้ศาลสั่งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ให้ถอนชื่อจำเลยออกจากโฉนด ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากนายสมัยเจ้าของเดิมได้จดทะเบียนโอนโฉนดต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยสุจริต ย่อมมีสิทธิดีกว่าโจทก์ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยต่อสู้ว่าได้สิทธิทางทะเบียนมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีทางนำสืบหักล้างข้อนี้เพราะมิได้บรรยายฟ้องเป็นประเด็นไว้ ไม่มีทางชนะคดีจำเลยพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิครอบครองของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 อันยังมิได้จดทะเบียนอาจยกขึ้นต่อสู้นายสมัยเจ้าของเดิมได้ แต่จะยกขึ้นต่อสู้จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่พิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรค 2 เพราะกฎหมายยังมิได้รับรองสิทธิของโจทก์อย่างเด็ดขาดจนกว่าโจทก์จะได้จดทะเบียนสิทธิของโจทก์แล้ว และที่โจทก์ฎีกาว่านายสมัยเจ้าของเดิมยังไม่สามารถเรียกร้องที่พิพาทคืนจากโจทก์ ฉะนั้น การที่นายสมัยเอาที่พิพาทไปโอนขายให้จำเลยจำเลยย่อมไม่มีสิทธิดีกว่านายสมัย นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์อ้างการได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นั้น ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ด้วย เพราะมาตรา 1299 เป็นบทยกเว้นจากหลักทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์