โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136,91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 14, 21, 42, 60, 66 พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2527 มาตรา 7 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 23, 126
จำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาใช้รถยนต์ผิดประเภทและประกอบการขนส่งประจำทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ข้อหาอื่นจำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 1,000 บาทฐานเปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 14, 60 ปรับ 600 บาท ฐานขับรถไม่แสดงใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 42, 66 ปรับ 200 บาทฐานขับรถไม่แสดงใบคู่มือจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 42, 66 ปรับ 200 บาท รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000 บาท ฐานใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ และประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 60 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23, 126 อันเป็นบทหนักจำคุก 6เดือน ปรับ 20,000 บาท รวมเป็นจำคุก 7 เดือน ปรับ 21,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56มีกำหนด 2 ปี บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานใช้รถยนต์ไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ และฐานประกอบการขนส่งประจำทางโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 21 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 23นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยใช้รถยนต์โดยสารขนาดเล็กของจำเลยรับจ้างบรรทุกขนส่งคนโดยสาร อันเป็นการใช้รถบรรทุกส่วนบุคคลที่เปลี่ยนแปลงเป็นรถยนต์สาธารณะ ซึ่งเป็นการใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ดังที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย...
คดีมีปัญหาตามฎีกาโจทก์ต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2523 มาตรา 4บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
(1) ฯลฯ
(2) การขนส่งโดย ฯลฯ รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน1,600 กิโลกรัม ฯลฯ" ดังนั้น เมื่อรถยนต์บรรทุกของจำเลยมีน้ำหนักเพียง 1,050 กิโลกรัม ดังที่ได้ความข้างต้น จึงไม่เป็นรถที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แม้จำเลยจะนำรถคันนั้นมาใช้รับจ้างบรรทุกขนส่งคนโดยสาร การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งบางบก พ.ศ. 2522มาตรา 23 ประกอบด้วยมาตรา 126..."
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ประกอบด้วยมาตรา 60 ให้ปรับ 1,000 บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.