โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองและให้ที่ดินกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางพร ต่อไป
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นบุตรนายสีกับนางพร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 6 คน จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท โฉนดเลขที่ 900 เนื้อที่ 16 ไร่ 15 ตารางวา โดยปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่า นายพิมพาได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันหนี้ของนางสง่า ภริยาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและจดทะเบียนโดยสุจริต
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า นางพรถึงแก่ความตายเมื่อประมาณปี 2525 โจทก์ทั้งสองอ้างมาตามคำฟ้องและนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางพรมารดาโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่นายพิมพา ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนให้นางพรซึ่งตกทอดแก่บุตรของนางพรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม รวม 6 คน และโจทก์ทั้งสองยังมิได้จดทะเบียนการได้มา ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองยอมให้จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทโดยรับโอนมาจากนายพิมพามาเป็นเวลานานกว่าสิบปี และจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันหนี้ของนางสง่าภริยาจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 วงเงินจำนอง 150,000 บาท และต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 จำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองและได้จดทะเบียนจำนองใหม่อีกครั้งในวันเดียวกันในวงเงินจำนอง 620,000 บาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวแทนของตนทำการออกนอกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 รับจำนองไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์ทั้งสองจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ 2 ขวนขวายได้สิทธิมาแต่ก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสองนั้นได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 โจทก์ทั้งสองจะอ้างบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 ซึ่งบัญญัติให้การจำนองกระทำได้โดยเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นเพื่อมิให้สัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีผลผูกพันที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองอันมีผลเป็นการบังคับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอในฎีกาว่า ขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์สินของกองมรดกของนางพรนั้น เห็นว่า แม้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองนอกจากจะมีคำขอท้ายฟ้องว่าขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ทั้งสองยังมีคำขอต่อมาว่า ขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางพรด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยมีคำขอท้ายอุทธรณ์ว่า ขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพียงอย่างเดียว มิได้มีคำขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางพรด้วยแต่อย่างใด และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้วินิจฉัยประเด็นนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์สินของกองมรดกของนางพรจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยมิได้มีคำขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางพร และคำขอให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางพรตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ดังนี้ คดีในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงมีเฉพาะคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นศาลละ 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 2 (ก) แต่โจทก์ทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ชั้นศาลละ 16,000 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาในชั้นอุทธรณ์ 15,800 บาท และชั้นฎีกา 15,800 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 15,800 บาท และค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 15,800 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ