โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 551,183.99 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 350,130 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 153,185 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 เมษายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 8 บทที่ 8.2 ข้อ (4) ที่ระบุว่า ใช้สถานที่ของบริษัทฯ เป็นที่กระทำการอื่นใดนอกจากหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามปกติ โดยมิได้รับอนุญาตจากฝ่ายบริหาร และข้อ (12) ที่ระบุว่า การกระทำอื่นๆ ตามที่ฝ่ายบริหารเห็นว่าร้ายแรง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่บริษัทฯ และอาจมีผลกระทบถึงส่วนรวมหรือทำผิดระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ ซึ่งระบุเป็นโทษร้ายแรงไว้ เป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การจะถือว่ากรณีใดเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ มิใช่จะดูแต่เพียงว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดว่า เป็นความผิดร้ายแรงแล้ว ต้องถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงเสมอไป จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแต่ละกรณีไปตลอดจนผลเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากน้อยเพียงใดด้วย ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่าหลังจากนางสาววิไลวรรณตกลงจะเช่าช่วงพื้นที่ภายใต้ชื่อร้านว่า เซนซ์ซาลอน หรือบิวตี้ ซาลอน จากนางพเยาว์แล้ว นางสาววิไลวรรณต้องชำระเงิน 500,000 บาท แก่นางพเยาว์ แต่นางพเยาว์เป็นลูกหนี้เงินกู้นายอภิชาติจำนวน 500,000 บาท นางสาววิไลวรรณจึงชำระเงิน 500,000 บาท ให้แก่นายอภิชาติ หลังจากนั้นนางสาววิไลวรรณได้เข้าไปดำเนินการในร้านเสริมสวย ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2545 นางสาววิไลวรรณนำเงิน 120,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ซึ่งนางพเยาว์เป็นหนี้โจทก์แทนนางพเยาว์ และเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2545 นางสาววิไลวรรณกับนางพิศมัยร่วมกันซื้อเครื่องปรับอากาศราคา 18,000 บาท ให้โจทก์เนื่องในโอกาสที่โจทก์จะขึ้นบ้านใหม่ นอกจากนี้นางสาววิไลวรรณและนายยูกิได้ชำระค่าแหวนทองคำฝังเพชรและพลอย 1 วง ราคา 9,000 บาท ซึ่งโจทก์สั่งทำไว้แทนโจทก์ กับนายยูกิสามีของนางสาววิไลวรรณก็ได้ซื้อกล้องถ่ายรูปดิจิตอลยี่ห้อแคนนอน 1 กล้อง ราคาประมาณ 10,000 บาท จากประเทศญี่ปุ่นให้โจทก์พฤติการณ์และการกระทำของโจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกรับผลประโยชน์ซึ่งเป็นทรัพย์สินจากนางสาววิไลวรรณเป็นแหวนเพชร กล้องถ่ายรูปดิจิตอลและเครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือนางวิไลวรรณเช่าช่วงและช่วยเหลือในการต่อสัญญาเช่ากับจำเลยออกไปอีก 3 ปี โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่โจทก์ทำงานอยู่กับจำเลย ทำให้จำเลยเสียชื่อเสียงและมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุนี้มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่แล้วไม่วินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ดังได้วินิจฉัยข้างต้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง