คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เลข ๐๘๗๗๗๗ กับ ๘๐๙๓๓๓ งวดซึ่งจะออกรางวัลในคืนวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๐๔ จากร้านในตลาดอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วสลากทั้งสองนั้นได้หายไป โจทก์ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อมาจึงทราบว่าสลากเลข ๘๐๙๓๓๓ นั้น ถูกรางวัลที่ ๒ เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ตำรวจจึงแจ้งอายัดต่อสำนักงานสลากกินแบ่งของรัฐบาล แต่ได้รับแจ้งให้โจทก์ดำเนินคดีเอง จึงขอให้ศาลแสดงว่าโจทก์ผู้เดียวเป็นเจ้าของสลากที่ฟ้อง ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง และให้จำเลยส่งมอบสลากนั้นแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์รับเงินไม่ได้เท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ในเงิน จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท และไม่ขัดขวางในการที่โจทก์จะรับเงินรางวัล
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่ได้สิทธิพิพากษาให้จำเลยคืนสลากให้โจทก์และให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้โจทก์นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอให้บังคับ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีก
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่สลากพิพาทเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลไทย สัญญาสลากกินแบ่งจึงเป็นสัญญาอันผูกพันกันได้ การที่โจทก์เข้าเป็นคู่สัญญาโดยการซื้อสลากพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้ทรงสิทธิตามสัญญาสลากกินแบ่งและเหนือใบสลากพิพาท สิทธิดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ ดังนั้น แม้ใบสลากพิพาทจะหล่นหาย โจทก์ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากบุคคลผู้ไมมีสิทธิจะยึดถือไว้ ส่วนผู้เก็บสลากพิพาทได้ เป็นเพียงบุคคลผู้เก็บได้ซึ่งทรัพย์สินที่โจทก์ทำหล่นหาย ย่อมมีหน้าที่ต้องรักษาสลากพิพาทนั้นไว้ด้วยความระมัดระวังอันสมควร จนกว่าจะส่งมอบแก่โจทก์ ผู้เก็บสลากพิพาทได้ไม่ใช่เจ้าของ จึงไม่มีสิทธิตามมาตรา ๑๓๓๖ ที่จะเอาสลากพิพาทอันเป็นของโจทก์ไปโดนขายให้แก่นางอำไพ ดังนั้น แม้นางอำไพจะซื้อจากผู้ซึ่งเก็บสลากพิพาทได้ไว้โดยสุจริตและเปิดเผย นางอำไพก็ไมมีสิทธิในสลากพิพาทดีไปกว่าผู้ขาย ที่โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีนั้น ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น