โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 268 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อข.697/2559 ของศาลจังหวัดมีนบุรี
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัท พ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 83 จำเลยที่ 1 ปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี ให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อข.697/2559 ของศาลจังหวัดมีนบุรี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 83 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันรับฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการแทน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าสินค้ากล่องกระดาษที่อ้างว่ามีสิทธิได้รับชำระจากบริษัท พ. โจทก์ร่วม ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเป็นเอกสารสิทธิให้แก่บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และในวันที่ 3 ตุลาคม 2556 จำเลยที่ 1 มอบสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี อันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) วันเดียวกันนั้น บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 ร่วมกันมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องการรับชำระค่าสินค้าไปยังโจทก์ร่วม ซึ่งมีผู้รับไว้แทนโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 วันที่ 19 มกราคม 2558 บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ร่วมชำระหนี้ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัท โดยมีผู้รับหนังสือทวงถามไว้แทนโจทก์ร่วมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 วันที่ 3 เมษายน 2558 บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฟ้องจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วม กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลยในคดีแพ่งของศาลจังหวัดมีนบุรี คดีหมายเลขดำที่ พ.555/2558 ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีนั้นขาดนัดยื่นคำให้การ และจำเลยทั้งหกขาดนัดพิจารณา ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ให้โจทก์ร่วมรับผิดชำระหนี้ค่ากล่องกระดาษ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ (บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)) แล้ว เป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ. 1840/2558 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหมายแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินฝากในบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ของโจทก์ร่วมจำนวน 4,925,446 บาท ส่งให้แก่โจทก์ร่วมและธนาคาร สำหรับความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมไม่อุทธรณ์ คดีจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่สามารถลงความเห็นได้ว่าลายมือชื่อในสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี และในสำเนาใบวางบิล เป็นลายมือชื่อปลอมของนางสาวจินตนาและนางสาววัลลภาหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ด้วยสาเหตุที่ลายมือชื่อในเอกสารปัญหาดังกล่าวไม่มีลักษณะพิเศษของการเขียนที่เด่นชัด ทั้งยังเป็นลายมือชื่อในภาพถ่ายเอกสาร กรณีจึงมิใช่เป็นเพราะมีการส่งตัวอย่างลายมือชื่อที่แท้จริงของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองปากนี้ไปเพื่อใช้ตรวจเปรียบเทียบกับเอกสารซึ่งมีข้อพิพาทไม่เพียงพอ หากโจทก์ร่วมได้ให้ความร่วมมือในการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อลูกจ้างทั้งสองคนของตนอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งเมื่อตรวจดูลักษณะการเขียนของลายมือชื่อนางสาวจินตนาและนางสาววัลลภาที่เคยลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารต่าง ๆ หลายวาระ กับลายมือชื่อที่บุคคลทั้งสองเขียนขึ้นต่อหน้าพนักงานสอบสวน เปรียบเทียบกับลายมือชื่อในสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี และในสำเนาใบวางบิล ซึ่งมีข้อพิพาทแล้วมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดว่ามิใช่เป็นลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน ทั้งเมื่อพิเคราะห์ต่อไปว่าสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี ดังกล่าวระบุชื่อของผู้ที่นำสินค้ามาส่งให้แก่โจทก์ร่วมทุกฉบับว่าคือนายประสงค์ ไม่ทราบชื่อสกุลบ้าง นายอรุณ ไม่ทราบชื่อสกุลบ้าง ฉะนั้น นายประสงค์และนายอรุณจึงถือเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่สามารถโต้แย้งข้ออ้างของนางสาวจินตนาได้ว่านางสาวจินตนาเคยรับมอบสินค้าไว้จากจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่จำเลยทั้งสองก็หาได้นำตัวบุคคลทั้งสองมาเบิกความยืนยันความในข้อนี้เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์และโจทก์ร่วมโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องใด เช่นนี้ การที่นางสาวจินตนาและนางสาววัลลภาซึ่งถือว่าเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นโดยตรงในข้อที่โจทก์ร่วมไม่เคยสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 มาเบิกความยืนยันลายมือชื่อในเอกสารซึ่งมีข้อพิพาทว่ามิใช่เป็นลายมือชื่อของพยานทั้งสอง โดยปรากฏชัดถึงลักษณะการเขียนที่แตกต่างกัน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่ยังรับฟังได้ไม่แน่ชัดดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่แน่ว่าลายมือชื่อของนางสาวจินตนาและนางสาววัลลภาที่ปรากฏอยู่ในสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี และในสำเนาใบวางบิล เป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ใช่แต่เท่านั้น โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายสรวุฒิ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ร่วม และนายกฤต ทนายความประจำบริษัทโจทก์ร่วม มาเบิกความสนับสนุนอีกว่า ภายหลังจากที่พยานทั้งสองทราบว่าถูกบริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฟ้องให้ชำระหนี้จากการโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 โดยเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดแล้ว พยานทั้งสองร่วมกันตรวจสอบข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ร่วม ไม่พบว่าโจทก์ร่วมสั่งซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ทั้งเมื่อตรวจสอบหลักฐานแห่งหนี้ซึ่งขอคัดจากสำนวนของศาลจังหวัดมีนบุรีที่เป็นสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี และสำเนาใบวางบิล ทั้งนางสาวจินตนาและนางสาววัลลภาต่างยืนยันว่าไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวและไม่เคยลงลายมือชื่อรับสินค้าและรับวางบิลไว้จากจำเลยที่ 1 และโดยที่ใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษีส่วนที่เป็นสำเนาจะต้องคืนให้แก่ผู้ขาย 3 ฉบับ ซึ่งผู้ขายมีหน้าที่ต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากรเช่นเดียวกับโจทก์ร่วม นายกฤตจึงเข้าไปตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร จังหวัดนนทบุรี ไม่พบว่ามีเลขที่ใบกำกับภาษีที่ปรากฏอยู่ในสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี อยู่ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์รับว่ามีหน้าที่ส่งใบกำกับภาษีให้แก่กรมสรรพากรด้วย จึงเจือสมพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังได้ว่าทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต่างมีหน้าที่นำส่งสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษีซึ่งมีระบุจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 ให้แก่กรมสรรพากรไว้ใช้สอบทานกัน ด้วยเหตุนี้ หากจำเลยที่ 1 ขายสินค้าให้แก่โจทก์ร่วมจริง และนางสาววัลลภาลงลายมือชื่อในใบวางบิลให้ชำระค่าสินค้าไว้แล้ว โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ย่อมต้องส่งสำเนาใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษีให้แก่กรมสรรพากรเพื่อบันทึกไว้ในฐานข้อมูล การที่นายกฤตพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันว่าได้ไปตรวจสอบแล้ว แต่ไม่พบเลขที่ใบกำกับภาษีของสินค้าที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าขายให้แก่โจทก์ร่วมในฐานข้อมูลกรมสรรพากร จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์ร่วมไม่เคยซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 และลายมือชื่อของนางสาวจินตนากับนางสาววัลลภาเป็นลายมือชื่อปลอม ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมเชื่อได้โดยมั่นคงว่าลายมือชื่อของนางสาวจินตนาและนางสาววัลลภาในสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี กับในสำเนาใบวางบิล เป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ร่วมไม่เคยสั่งซื้อสินค้าดังที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ย่อมทราบข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่แก่ใจ การที่จำเลยทั้งสองยังร่วมกันนำมูลหนี้ตามสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี จำนวน 3,747,172.10 บาท ซึ่งเป็นเอกสารปลอมไปขายให้แก่บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องเมื่อวันที่ 1 และวันที่ 3 ตุลาคม 2556 โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกบริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้องให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวทั้งที่ไม่มีอยู่จริง จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น อย่างไรก็ดี แม้การทำปลอมสำเนาใบส่งสินค้า/สำเนาใบกำกับภาษี และสำเนาใบวางบิล ผู้กระทำมีเจตนามุ่งให้เกิดผลเป็นหนี้ค่าสินค้าในแต่ละวันซึ่งโจทก์ร่วมต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แยกต่างหากจากกันรวม 6 ครั้ง โดยนำมาสรุปรวมเป็นยอดเดียวกันตามใบวางบิลที่ทำปลอมขึ้นจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิรวม 6 กระทง แต่การขายใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษีทั้ง 6 ฉบับ กระทำในวันและเวลาเดียวกันเพียงสองวันคือในวันที่ 1 และวันที่ 3 ตุลาคม 2556 เจตนาของการใช้เอกสารสิทธิปลอมในการทำนิติกรรมดังกล่าวจึงแยกออกจากกันได้เป็นสองกรรม หาใช่เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไว้แล้ว ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองได้ทุกกระทงความผิด เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195, 212 ประกอบมาตรา 225 โดยเห็นสมควรวางโทษจำเลยที่ 2 ให้เบาลงให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 83 เป็นการกระทำความผิดสองกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ให้ลงโทษเพียงกรรมเดียวจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น