ได้ความว่าเดิมที่รายพิพาท ช.ได้รับใบเหยียบย่ำเป็นเนื้อที่ ๓๘ ไร่เศษเมื่อ ช.ตายที่รายนี้ตกทอดมาเป็นของจำเลยเฉพาะเนื้อที่ตามใบเหยียบย่ำเป็นสวนทั้งแปลงจำเลยได้ตกลงทำสัญญาขายที่ให้โจทก์ปรากฎตามสัญญาข้อ ๓ ว่า เมื่อเจ้าพนักงานป่าไม้และกรมการอำเภอไปรังวัดตรวจที่ได้แน่นอนเท่าไรโจทก์จะยอมซื้อเป็นราคาไร่ละ ๒๐๐ บาท จำเลยได้ไปขอประกาศที่รายนี้ต่ออำเภอ นายอำเภอพร้อมด้วยเจ้าพนักงานป่าไม้และที่ดินไปรังวัดที่ดิน การรังวัดนี้เจ้าพนักงานให้จำเลยไปดูด้วยแต่จำเลยไม่ไป การรังวัดปรากฎว่าได้ที่ ๖ แปลงเป็นเนื้อที่ ๖ ไร่เศษ จำเลยได้ยื่นหนังสือคัดค้านต่ออำเภอและไม่ยอมขายที่ให้โจทก์ ๆ จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ขาย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เหตุว่าการรังวัดที่ดินของเจ้าพนักงานยังไม่ถูกต้องแน่นอนตามข้อสัญญา
ศาลฎีกาตัดสินว่าการรังวัดที่รายนี้ไม่มีฝ่ายใดเถียงว่าเป็นการทุจจริตและเจ้าพนักงานทำไปโดยหน้าที่ราชการเมื่อผิดถูกอย่างไรจำเลยก็อาจร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาหรือฟ้องร้องยังศาลได้ แต่จำเลยไม่จัดการอย่างไรเป็นแต่เมื่อถูกฟ้องก็ว่าเจ้าพนักงานทำไม่ถูกฉะนั้นเมื่อโจทก์ปฏิบัติถูกสัญญาแล้วจำเลยก็ต้องขายที่ให้โจทก์เท่าที่รังวัดได้ เมื่อจำเลยแสดงสิทธิ์ได้อีกว่าเป็นที่ของจำเลยโจทก์ก็ต้องซื้ออีกตามสัญญาพิพากษากลับศาลล่างให้โจทก์ชนะคดี