ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ: ผู้พิทักษ์ต้องได้รับมอบอำนาจหรือมีคำสั่งศาล
การที่ศาลมีคำสั่งให้ บ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของ อ. มีผลเพียง บ. ไม่สามารถที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ด้วยตนเอง เพราะต้องได้รับความยินยอมของ อ. ผู้พิทักษ์ก่อน ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 34 บัญญัติไว้เท่านั้น แต่มิได้มีผลทำให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้ที่มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังเช่นในกรณีของคนไร้ความสามารถที่ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำการแทน ซึ่งการเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ถือเป็นการอย่างหนึ่งอย่างใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 (10) หากเป็นในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม และคำสั่งของศาลดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคสามและวรรคสี่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยมี อ. เป็นผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่ อ. เป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความ และทนายความลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มาเบิกความต่อศาลโดย อ. เป็นผู้มาเบิกความแทน จึงเท่ากับผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน คำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นเรื่องที่คนเสมือนไร้ความสามารถฟ้องคดีโดยได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ หรือศาลมีคำสั่งให้ผู้พิทักษ์ฟ้องคดีแทนในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถเสนอคดีต่อศาลได้ด้วยตนเอง ตามเงื่อนไขของ ป.พ.พ. มาตรา 34 ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์และบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้แก้ไขเพื่อให้คำฟ้องสมบูรณ์เสียแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจนคดีล่วงเลยมาสู่ศาลฎีกาเช่นนี้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นจึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247