คดีนี้มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในข้อที่ว่า จะริบสายสร้อยของกลางหรือไม่
ได้ความตามข้อหาโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลยว่า นางจรัลจำเลยจัดให้มีการเล่นพะนันสลากกินรวบและนางจรัลจำเลยเป็นผู้ขายสลาก ๑๐๐ ฉะบับๆ ละ ๑๐ บาท จัดให้มี ๓ รางวัล ๆ ที่ ๑ เป็นสายสร้อยคอทองคำ ๑ สาย ราคา ๖๓๐ บาท ทั้งนี้โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมสายสร้อยที่กล่าวแล้ว ขณะจับนางจรัลกำลังเอาสลากออกเร่ขายโดยเอาสายสร้อยนั้นแสดงให้ผู้ซื้อสลากดู ขายสลากยังไม่ทันหมดก็ถูกจับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตาม พ.ร.บ. การพะนัน ๒๔๗๘ มาตรา ๑๒ ให้ลงโทษปรับแต่สายสร้อยของกลางยังถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์ที่เอาออกพะนัน ในวงเล่นการพะนันจึงให้ยกคำขอเรื่องริบเสีย
ศาลอุทธณ์พิพากษาแก้ ให้ริบสายสร้อยของกลาง
นางจรัลจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้ว เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าการที่นางจรัลจำเลยเอาสายสร้อยของกลางออกแสดงแก่บุคคลทั่วไปว่า ใครซื้อสลากและสลากถูกรางวัลที่ ๑ นางจรัลจะให้สายสร้อยของกลางแก่ผู้นั้น จำเลยอื่นจึงต่างซื้อสลากของนางจรัลจำเลยโดยเสี่ยงโชค หวังจะได้สายสร้อยของกลางดังนี้ย่อมเป็นการที่นางจรัลกับจำเลยเหล่านั้นได้เล่นการพนันกันแล้ว โดยนางจรัลจำเลยเอาสายสร้อยของกลางออกเป็นทรัพย์สินพะนัน เพื่อใช้ให้แก่ผู้ถูกสลากรางวัลที่ ๑ และในกรณีนี้ถือได้ว่าสถานที่ที่เล่นซื้อขายสลากกันนั้นเอง เป็นวงเล่นการพะนันตามความมุ่งหมายของ พ.ร.บ. การพะนัน ๒๔๗๘ มาตรา ๑๐ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน