โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 3, 8 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2560 ริบธนบัตรรัฐบาลไทยของกลาง และจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับ กับจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5, 6, 9 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 20,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบธนบัตรรัฐบาลไทย 2,000,000 บาท ของกลาง จ่ายสินบนร้อยละสามสิบของค่าปรับให้แก่ผู้นำจับและจ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของค่าปรับให้พนักงานเจ้าหน้าที่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยนำธนบัตรเงินตราไทยที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในประเทศไทย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,000,000 บาท อันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยไม่มีการสำแดงแจ้งรายการนำเงินตราที่กฎหมายกำหนดออกนอกราชอาณาจักรต่อเจ้าพนักงานศุลกากรในขณะผ่านด่านศุลกากรตามแบบที่เจ้าหน้าที่กำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดหรือข้อห้าม ตามข้อห้ามอันเกี่ยวกับการนำของออกนอกราชอาณาจักร จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตรวจพบและทำการจับกุมจำเลยเสียก่อน จึงไม่อาจนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักรสมดังเจตนาของจำเลยและอ้างพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ.2485 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้ธนบัตรเงินตราไทยเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร อันเป็นการบรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัด ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 จึงเป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าธนบัตรเงินตราไทยเป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดตามกฎหมาย ระเบียบหรือประกาศของกฎหมายฉบับใดหรือเป็นสิ่งของชนิดใด หรือไม่ได้แนบประกาศหรือระเบียบมาท้ายฟ้องนั้นเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่ใช่สาระสำคัญอันจะทำให้ฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยแต่อย่างใดไม่ คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพอันแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว และความผิดดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยพยายามนำธนบัตรเงินตราไทยซึ่งเป็นของต้องกำกัดหรือของต้องห้ามออกไปนอกราชอาณาจักร และลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า สมควรริบธนบัตรของกลางหรือไม่ เห็นว่า ธนบัตรเงินตราไทยเป็นของตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยพยายามนำธนบัตรเงินตราไทยซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักร โดยมีสายลับผู้นำจับประสงค์สินบนนำจับได้แจ้งให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรเงินตราไทยได้จำนวนถึง 2,000,000 บาท แม้จำเลยจะไม่สามารถนำธนบัตรเงินตราไทยจำนวนดังกล่าวอันเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายให้ถือเป็นความผิดและศาลอาจใช้ดุลพินิจสั่งริบของนั้นก็ได้ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง ซึ่งการนำเงินตราเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักรอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา ทั้งนี้เพื่อป้องกันการลักลอบส่งหรือนำไปนอกหรือเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งนำมาสู่ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น การฟอกเงินที่ได้จากการกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ไม่สำแดงรายการต่อเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่พยายามหลีกเลี่ยงกฎหมายและลักลอบนำเงินตราซึ่งเป็นของต้องห้ามหรือของต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร จึงเป็นพฤติการณ์ที่สมควรริบธนบัตรของกลางดังกล่าว ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ธนบัตรของกลางมิใช่ของจำเลยแต่เป็นของนายพันธิน จึงไม่ควรริบของกลางนั้น เป็นเรื่องที่เจ้าของแท้จริงจะต้องร้องขอคืนของกลางต่อศาลไม่เกี่ยวกับจำเลย ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ริบของกลางนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 กำหนดให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางหรือค่าปรับไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไข แต่ไม่สามารถแก้ได้เพราะเป็นบทกฎหมายที่ตราไว้แล้ว ประกอบกับตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละสิบห้าของค่าปรับนั้น จึงไม่ต้องด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 20,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบธนบัตรรัฐบาลไทย 2,000,000 บาท ของกลาง ให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของค่าปรับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8