ได้ความว่าโจทก์ได้ให้ทองหมั้นแก่จำเลยที่ ๑ หนัก ๘ บาท ราคา ๓๐๔ บาท กับให้เงินสินสอด ๔๘๐ บาท แก่จำเลยที่ ๒-๓ ซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยที่ ๑ เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำพิธีสมรสกันแล้ว โจทก์ให้จำเลยไปจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าพนักงานจำเลยก็หาไปไม่ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยไปจัดการจดทะเบียนสมรสหรือให้คืนทองหมั้นและสินสอด
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้จำเลยคืนทองหมั้นและสินสอดแก่โจทก์
ศาลฎีกาตัดสินว่าเพื่อจะให้การสมรสสมบูรณ์จะต้องไปจดทะเบียนตามประมวลแพ่งฯ ม.๑๔๔๙ การที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ทำพิธีสมรสและอยู่กินด้วยกันมาก็เป็นผัวเมียกันตามพฤตตินัยเท่านั้น ไม่มีผลสมบูรณ์ตามนิตินัย ตราบเท่าที่ยังมิได้จดทะเบียนกันยังถือไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ทำการสมรสกันตามกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมไปจดทะเบียนก็เท่ากับไม่ยอมสมรสกับโจทก์ เพราะฉะนั้นทองหมั้นและเงินสินสอดก็เป็นส่วนที่โจทก์จะเรียกคืนได้ตามประมวลแพ่งฯ ม.๑๔๓๖ วรรค ๒-๓ ส่วนข้อที่ศาลล่างไม่ยอมบังคับการจดทะเบียนให้นั้นก็ชอบแล้ว ตาม ม.๑๔๓๗ วรรค ๑ การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้และการที่โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ ๑ ไปจดทะเบียนสมรสก็เท่ากับให้สมรสนั่นเอง และการที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าการไม่จดทะเบียนสมรสไม่เป็นผัวเมียตามกฎหมายก็ไม่เป็นการเกินคำขอ เพราะเป็นเหตุแห่งข้อวินิจฉัยถึงผลที่จำเลยต้องคืนทองหมั้นและสินสอดให้โจทก์ จึงพิพากษายืนตาม