โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (18), 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารกับฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 7 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 21 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จำคุก 5 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปีรวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี 18 เดือน ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี 24 เดือน รวมจำคุก 19 ปี 48 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่สมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยฟังและขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่จำเลยหลายครั้งครั้งสุดท้ายครบกำหนดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานปกติของศาลชั้นต้น โดยมิได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษเช่นเดียวกับศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมและมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 แต่จำเลยมิได้ยื่นฎีกาในวันครบกำหนดดังกล่าว ทั้งหากจำเลยประสงค์ยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการยื่น ส่ง และรับคำคู่ความและเอกสารทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 ข้อ 7 วรรคสาม โดยยื่นภายในวันครบกำหนดได้รับอนุญาตให้ขยายฎีกาตามเวลาทำการปกติคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.30 นาฬิกา เช่นเดียวกัน แม้การยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์นอกเวลาทำการปกติหรือนอกวันทำการปกติของศาลจะถือว่าเป็นการยื่นในเวลาแรกหรือวันทำการแรกที่ศาลเปิดทำการปกติถัดไป แต่เมื่อจำเลยยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 19 : 39 : 09 นาฬิกา พ้นกำหนดเวลาได้รับอนุญาตให้ยื่นฎีกาแล้ว จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดเวลา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย