คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน 16 ราย ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน 15 ราย และมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ 1 ราย (เจ้าหนี้รายที่ 3) ต่อมาจำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลย และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ยื่นตามบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงิน (ปรับปรุง) ฉบับลงวันที่ 25 มีนาคม 2551 และมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านคิดค่าธรรมเนียมตามบัญชีส่วนแบ่งครั้งที่สุด (ปิดคดี) ฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมการประนอมหนี้จำนวน 34,811,370 บาท ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านต้องคิดค่าธรรมเนียมการประนอมหนี้จากจำนวนเงินประนอมหนี้เฉพาะเจ้าหนี้ที่ยังมิได้ถอนคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งค่าธรรมเนียมจากเงินดังกล่าวเป็นจำนวน 1,389,619 บาท ซึ่งน้อยกว่าค่าธรรมเนียมสำหรับราคาของทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายจำนวน 1,492,799 บาท จำเลยจึงต้องชำระค่าธรรมเนียมประนอมหนี้เป็นเงิน 1,492,799 บาท นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2548 ภายหลังจากพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 12 มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 มีผลใช้บังคับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 แล้ว การคิดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินจึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (4) กล่าวคือ "ค่าธรรมเนียมในคดีล้มละลายให้คิดตามอัตรา ดังต่อไปนี้... (4) ค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินให้คิดในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า..." ถ้อยคำ "ของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้" หมายความว่า ให้คิดค่าธรรมเนียมจากจำนวนเงินที่ลูกหนี้ได้ขอประนอมหนี้ทั้งหมดซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติพิเศษยอมรับและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว เมื่อจำนวนเงินที่จำเลยขอชำระตามคำขอประนอมหนี้เป็นจำนวน 1,160,379,021 บาท ค่าธรรมเนียมร้อยละสามของจำนวนดังกล่าว จึงคิดเป็นเงิน 34,811,370 บาท และความรับผิดในการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวเกิดขึ้น นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ และไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แม้ต่อมาจะมีเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ถอนคำขอรับชำระหนี้ก็ตาม ดังนั้น เมื่อค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้มีจำนวน 34,811,370 บาท สูงกว่าค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายจำนวน 853,028 บาท จำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียม 34,811,370 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 (4) การคิดค่าธรรมเนียมการประนอมหนี้ของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ