คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฟ้องจำเลยทั้งสิบสอง ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 เป็นและเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท โดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสิบสองกระทำละเมิดต่อบริษัทเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายและโจทก์ทั้งหกในฐานะผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 180,000,000 บาท แก่บริษัทคำขออื่นให้ยก โจทก์ทั้งหกและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 7 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 60,674,157 บาท จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 41,460,674 บาท จำเลยที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 38,426,966 บาท จำเลยที่ 5 ที่ 6 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 10,112,359 บาท จำเลยที่ 8 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 29,325,843 บาท ให้แก่บริษัทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุด ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ทั้งหกร่วมกันบังคับคดีจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 เพื่อนำเงินมาชำระให้แก่บริษัท ระหว่างบังคับคดีโจทก์ทั้งหกได้พ้นสภาพเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท วันที่ 18 ตุลาคม 2560 โจทก์ทั้งหกยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 โจทก์ทั้งหกยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอดำเนินการบังคับคดีต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายก่อนจึงจะดำเนินการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ให้ การที่โจทก์ทั้งหกยังไม่ชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดเป็นคนละส่วนกับการบังคับคดี ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีต่อไป ในวันเดียวกันโจทก์ทั้งหกยื่นคำร้องอีกฉบับว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ยังไม่ได้นำเงินมาวางชำระหนี้ การถอนการบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นเห็นว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึด เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ได้วางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา และต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การยึดหุ้นดังกล่าวมิชอบให้ถอนการยึดโดยไม่มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการถอนการยึด โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีหน้าที่ใด ๆ ต้องชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึด คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีต่อไป และต่อมาโจทก์ทั้งหกยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 277 (เดิม) ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 มาไต่สวน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และบริษัทยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้ทำการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 งดการบังคับคดี และงดการไต่สวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ทั้งหกที่ขอไต่สวนกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และให้งดการบังคับคดี
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เบื้องต้นที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ส.อมรพรรณ (1993) จำกัด ภายหลังคดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ส.อมรพรรณ (1993) จำกัด แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งหกจึงร่วมกันขอให้ศาลบังคับคดี ระหว่างการบังคับคดีโจทก์ทั้งหกพ้นจากการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ส.อมรพรรณ (1993) จำกัด แล้ว ต่อมาวันที่ 18 ตุลาคม 2560 โจทก์ทั้งหกยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินการบังคับคดีต่อไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกมีว่า การที่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ขายหุ้นของตนในบริษัทออกไปหมดแล้วโจทก์ทั้งหกมีสิทธิบังคับคดีต่อไปได้หรือไม่ นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้ากรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ๆ จะฟ้องร้องเรียกเอาสินไหมทดแทนแก่กรรมการก็ได้ หรือในกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้องผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าว การฟ้องคดีของผู้ถือหุ้นมิใช่เป็นการตั้งฐานแห่งสิทธิในการฟ้องในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องคดีแทนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนและผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ การฟ้องคดีแทนบริษัทของผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ด้วย เช่นนี้ ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งจึงยังมีอำนาจฟ้อง หรือดำเนินคดี หรือบังคับคดีต่อไปได้ตราบเท่าที่ผู้ถือหุ้นคนนั้นยังคงเป็นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทอยู่ เพราะหากมิได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแล้ว ย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องคดีหรือบังคับคดีได้แต่อย่างใด การที่โจทก์ทั้งหกยื่นฟ้องคดีแทนบริษัทตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาโจทก์ทั้งหกได้ขายหุ้นส่วนของตนในบริษัทออกไปหมดแล้ว โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือใช้สิทธิใด ๆ ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้อีก และถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป กรณีจึงเป็นหน้าที่ของบุคคลที่ยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จะดำเนินการร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อบังคับคดีต่อไป โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีอำนาจบังคับคดี ฉะนั้นปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่บริษัทครบถ้วนแล้วหรือไม่ เป็นเรื่องของบุคคลซึ่งยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจะไปว่ากล่าวกันต่อไป ไม่จำต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ