โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 282, 317 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 4, 9 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 10, 52 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 4, 26, 78
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสาม (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2), 52 วรรคสาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (3), 78 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 15 ปีเศษ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จึงให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 3 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยดังนี้
(1) ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อศูนย์ให้คำปรึกษาทุก 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยให้ตรวจปัสสาวะจำเลยเพื่อหาสารเสพติดทุกครั้งที่ไปรายงานตัว
(2) ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ สิ่งมึนเมาและสิ่งเสพติดทุกชนิด ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี ห้ามเที่ยวเตร่ยามวิกาล ห้ามเล่นการพนัน และห้ามกระทำผิดอาญาใดอีก
(3) ให้จำเลยเล่าเรียนศึกษาให้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือประกอบอาชีพให้เป็นกิจจะลักษณะโดยให้นำหลักฐานการศึกษามาแสดงทุกครั้งที่มารายงานตัว
(4) ห้ามมิให้จำเลยออกจากสถานที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นหรือได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองจำเลย
(5) ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษาและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ทั้งนี้ ต้องมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงหรือการค้ามนุษย์ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง
(6) ให้จำเลยเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแก้ไขฟื้นฟูปรับเปลี่ยนความประพฤติตามที่ศาลกำหนดอย่างน้อย 1 กิจกรรม ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เว้นแต่ศาลมิได้กำหนดกิจกรรมให้จำเลยเข้าร่วมภายในกำหนดเวลาดังกล่าว กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท แก่ผู้ร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้จำเลยฟัง ดังนี้
(1) ห้ามจำเลยเข้าไปยังสถานที่หรือท้องที่ใดอันจะจูงใจให้จำเลยประพฤติชั่ว
(2) ห้ามจำเลยออกนอกสถานที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่จำเลยอาศัยอยู่ด้วย
(3) ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี
(4) ห้ามจำเลยสูบบุหรี่หรือดื่มสุราหรือเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดทุกชนิด
(5) ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 5 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี โดยให้ตรวจปัสสาวะจำเลยเพื่อหาสารเสพติดทุกครั้งที่ไปรายงาตัว ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 13 ปีเศษ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นหลานของผู้เสียหายที่ 2 บิดามารดาของผู้เสียหายที่ 1 แยกทางกัน ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งมีศักดิ์เป็นยายจึงนำผู้เสียหายที่ 1 มาเลี้ยงดูตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 1 มีอายุได้ 3 เดือน และอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 วันที่ 21 มีนาคม 2559 เจ้าพนักงานตำรวจได้เข้าควบคุมตัวผู้เสียหายที่ 1 กับพวกที่หมู่บ้านเอื้ออาทร เนื่องจากมีชาวบ้านแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจว่าบ้านเช่าที่ผู้เสียหายที่ 1 พักอาศัยอยู่กับเพื่อนมีการมั่วสุมและส่งเสียงดัง ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกถูกส่งตัวไปที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดชลบุรี และต่อมาถูกส่งตัวไปที่บ้านเกร็ดตระการ
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยเพียงปากเดียวคือตัวผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้เบิกความไปตามลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับแต่ที่ได้พบและรู้จักกับนาย ส. ครั้งแรกที่ร้านอาหาร พ. จนกระทั่งพบนาย ส. อีกครั้งที่ร้านอาหาร ต. และในคืนวันนั้นได้พบจำเลยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่นั่งโต๊ะเดียวกับนาย ส. รวมถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ได้พูดจาชักชวนให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับนาย ส. คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ยืนยันการกระทำของจำเลยเช่นเดียวกับที่เคยให้การในชั้นสอบสวนต่อหน้านักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนอันจะระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเกินเลยความจริงเพื่อปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 เบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ส่วนที่จำเลยนำสืบว่าไม่ได้ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับนาย ส. เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 1 ไปกับนาย ส. เองนั้น แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าในวันเกิดเหตุก่อนเดินทางไปที่ร้านอาหาร ต. จำเลยได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปอาบน้ำที่บ้านคนรักของจำเลย ซึ่งหากไม่เป็นเพราะจำเลยมีเจตนาที่จะพาผู้เสียหายที่ 1 ไปค้าประเวณีให้แก่นาย ส. แล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอาบน้ำที่บ้านคนรักของจำเลยก่อนที่จะพากันไปที่ร้านอาหารดังกล่าว นอกจากนี้การที่จำเลยเบิกความบ่ายเบี่ยงไปในทำนองว่าไม่รู้เรื่องที่นาย ส. กับผู้เสียหายที่ 1 ออกจากร้านไปมีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่ อย่างไรนั้น แต่ก็ได้ความจากจำเลยว่า เมื่อนาย ส. เดินออกจากร้านแล้วเข้าไปนั่งในรถยนต์ฝั่งคนขับโดยมีผู้เสียหายที่ 1 ตามไป ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 กับนาย ส. ได้กลับเข้ามานั่งที่โต๊ะในร้านอาหารดังกล่าวแล้ว ขณะผู้เสียหายที่ 1 ลุกไปเข้าห้องน้ำ จำเลยเดินตามไปและขอยืมเงิน 500 บาท จากผู้เสียหายที่ 1 แม้จำเลยจะอ้างว่าเป็นการขอยืมเงินจากผู้เสียหายที่ 1 แต่เหตุใดจำเลยจึงไม่ขอยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ตั้งแต่ก่อนที่จะพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอาบน้ำที่บ้านคนรักของจำเลย หรือก่อนที่จะพากันไปที่ร้านอาหารดังกล่าว ข้ออ้างดังกล่าวจึงเป็นพิรุธ แสดงให้เห็นว่า จำเลยรู้ดีว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้ค้าประเวณีให้แก่นาย ส. อันเกิดจากการชักชวนของจำเลย และหลังจากผู้เสียหายที่ 1 ได้รับเงินจากนาย ส. มาแล้วจำเลยจึงขอเงินจากผู้เสียหายที่ 1 แม้ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะเบิกความตอบคำถามค้านที่ปรึกษากฎหมายจำเลยในทำนองว่าเงิน 500 บาท นั้นเป็นเงินที่จำเลยขอยืมและเคยทวงถามเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนและคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่ตอบโจทก์ได้ความว่า หลังจากมีเพศสัมพันธ์กับนาย ส. แล้วจำเลยได้ขอเงินผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 500 บาท โดยไม่ปรากฏว่าเงิน 500 บาท ที่ผู้เสียหายที่ 1 ให้แก่จำเลยเป็นเงินที่จำเลยขอยืมผู้เสียหายที่ 1 ดังที่เบิกความตอบคำถามค้านที่ปรึกษากฎหมายจำเลย เชื่อว่าการที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านที่ปรึกษากฎหมายจำเลยไปเช่นนั้นน่าจะเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยนั่นเอง พยานจำเลยที่นำสืบมาจึงไม่สมเหตุผลและไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับนาย ส. พฤติการณ์ของจำเลยที่ชักชวนผู้เสียหายที่ 1 นับตั้งแต่ครั้งแรกในคืนที่จำเลยพบผู้เสียหายที่ 1 ในร้านอาหาร ต. โดยการตามผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ห้องน้ำเพื่อบอกว่านาย ส. ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เสียหายที่ 1 และนาย ส. จะให้ทุกอย่างตามที่ต้องการ จนกระทั่งวันเกิดเหตุจำเลยไปหาผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านเพื่อนของผู้เสียหายที่ 1 และยังคงพูดจาชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปมีเพศสัมพันธ์กับนาย ส. อีกจนผู้เสียหายที่ 1 ยอมตามที่จำเลยชักชวน และหลังจากนาย ส. พาผู้เสียหายที่ 1 ไปมีเพศสัมพันธ์แล้วกลับมาที่ร้านอาหารดังกล่าว จำเลยได้รับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 500 บาท นอกจากนี้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแล การที่จำเลยชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปพบนาย ส. ที่ร้านอาหาร ต. เพื่อค้าประเวณี ย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะสมัครใจยินยอมไปกับจำเลยก็ถือไม่ได้ว่าได้รับความยินยอมเห็นชอบจากผู้เสียหายที่ 2 เช่นนี้แล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจาร ฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีแม้บุคคลนั้นจะยินยอมก็ตาม และเป็นการกระทำต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี เป็นธุระจัดหาเด็กเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา หรือพาไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม และเป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี และชักจูง ส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกคำร้อง แม้ผู้ร้องจะไม่ได้ฎีกา แต่คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิตร่างกาย... อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลของคดีอาญาได้ เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดและจำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง โดยผู้ร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาโดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า เป็นอัตราที่เหมาะสมจึงกำหนดให้ตามคำขอนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ