โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 91, 137, 352, 353, 354
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนายเทพนม ผู้ตาย กับนางสาวจันทร์จิรา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 และผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยผู้ตายให้การรับรองว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของผู้ตายเป็นย่าของโจทก์ทั้งสาม และเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการแรกมีว่า โจทก์ทั้งสามมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญานั้น เป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งต้องหมายความว่า เป็นการห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้น ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว แต่ผู้ตายกับมารดาของโจทก์ทั้งสามมิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ทั้งสามจะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็ต่อเมื่อผู้ตายและมารดาของโจทก์ทั้งสามได้สมรสกันในภายหลัง หรือผู้ตายได้จดทะเบียนว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 บัญญัติไว้เท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 เป็นย่าของโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามก็ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามต่อไปมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 เนื่องจากฟ้องโจทก์ทั้งสามไม่มีข้อความที่ระบุชื่อและชื่อสกุล รวมทั้งลายมือชื่อของผู้เรียงและผู้เขียนหรือผู้พิมพ์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 บัญญัติว่า "ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง" และมาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี ฯลฯ (7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง" ตามฟ้องของโจทก์ทั้งสามปรากฏว่า โจทก์ทั้งสามได้ลงลายมือชื่อแล้วโดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แทนโจทก์ทั้งสาม เหตุที่ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องน่าจะเป็นเพราะโจทก์ทั้งสามพิมพ์แบบพิมพ์คำขอท้ายฟ้องมาไม่ครบถ้วน โดยพิมพ์เฉพาะด้านหน้ามิได้พิมพ์แบบพิมพ์ด้านหลังซึ่งจะมีรายการให้ลงลายมือชื่อผู้เรียงหรือผู้พิมพ์ฟ้องไว้มาด้วย จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่สั่งให้โจทก์ทั้งสามแก้ไขก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์ทั้งสามแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกันพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์ทั้งสามแก้ไขข้อผิดพลาดที่ไม่ลงชื่อผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ฟ้อง แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี