คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไม้หวงห้ามประเภท ก.ซึ่งเป็นไม้ที่ตัดฟันแปรรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔๗,๔๘,๔๙,๗๓,๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๑๗,๑๘ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓,๔ ประกาศกระทรวงเกษตร ฯลฯ และ ริบไม้ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยซื้อไม้ของกลางมาเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๐๒จึงต้งใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๙๔ บังคับคดี พิพากษาว่าจำเลยผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๔๘,๗๓,๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๑๗ ให้ปรับเป็นเงิน ๑๐๐ บาท ริบไม้ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีไม้ของกลางตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๐๒ ก่อนจำเลยถูกจับเกิน ๑ ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕(๕) ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีเรื่องนี้ ตราบใดที่จำเลยมีไม้ของกลางไว้ในความครอบครอง ก็เป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดไป คดีไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๕(๕) พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๗๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๑๓ ซึ่งศาลชั้นต้นยกมาปรับแก่คดี มีโทษปรับไม่เกิน ๑๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๕(๕) มีอายุความเพียง ๑ ปี แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ โดยประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นวันก่อนวันโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า ๑ ปี แล้ว คดีจึงขาดอายุความตามประมวลอาญามาตรา ๙๕(๕)
แต่ในกรณีเรื่องมีไม้แปรรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ในครอบครองนี้เป็นความผิดต่อกัน ตราบใดที่จำเลยมีไม้แปรรูปของกลางไว้ในความครอบครองก็เป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดมาตั้งแต่วันมีไว้ในความครอบครอง จนกระทั้งถึงวันที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยคือ วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นวันหลังวจากวันใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ แล้ว และโจทก์ก็ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) นี้ หากแต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีไม้แปรรูปของกลางมาก่อนวันใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ จะใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ บังคับคดีไม่ได้ จึงได้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๗๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๔ อันเป็นการยกบทกำหมายมาปรับแก่คดีผิดพลาดไป ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔๘,๗๓,๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๑๗ นอกจากที่แก้นี้แล้ว คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์