โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 432/2550 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2550 เฉพาะส่วนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 โดยให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนทางการแพทย์ตามกฎหมายแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 432/2550 เฉพาะส่วนที่ปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนนทเวชแก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ยังมิได้หักค่าสวัสดิการรักษาพยาบาลจากบริษัทฟูจิคูระ (ประเทศไทย) จำกัด ตามประเภทและอัตราที่กำหนดในข้อ 3.2.2 (2) (ที่ถูก ข้อ 3.1.2 (1)) ของประกาศคณะกรรมการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินลงวันที่ 11 เมษายน 2548 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 สิงหาคม 2550) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทฟูจิคูระ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประกันตนและมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ โจทก์ป่วยเป็นโรคเนื้อเยื่อบุมดลูกเกิดผิดที่ แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าทำอัลตร้าซาวด์แล้ว บันทึกว่าผู้ป่วยขอรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าท้องและเตรียมเจาะเลือดก่อนผ่าตัด และนัดโจทก์มาฟังผลเลือด - ปัสสาวะ นัดตรวจอีกครั้ง เพื่อนบ้านโจทก์พบโจทก์นอนหมดสติอยู่ในบ้านได้นำส่งโรงพยาบาลนนทเวช ซึ่งอยู่ใกล้บ้านโจทก์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที ถ้าจะเดินทางไปโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง หากการจราจรไม่ติดขัด โจทก์ถึงโรงพยาบาลนนทเวชตรวจวัดแล้วมีความดันโลหิตที่ 77/47 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งถือว่ามีอาการป่วยหนักหรือเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน โจทก์จึงวิงเวียนศีรษะและหมดสติ แต่ในวันนั้นแพทย์ยังมิได้ทำการผ่าตัดเพราะก่อนผ่าตัดต้องเตรียมให้ร่างกายผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่จะรับการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัยจึงให้แพทย์อายุรกรรมตรวจ เมื่อตรวจแล้วพบว่ามีอาการผิดปกติในการทำงานของตับเล็กน้อย ได้ปรึกษาเรื่องความปลอดภัยแล้วแพทย์อายุรกรรมให้ผ่าตัดได้ และได้ทำการผ่าตัดในตอนเย็น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทเวช เนื่องจากป่วยเจ็บฉุกเฉินหรือไม่ เห็นว่า เพื่อนบ้านโจทก์พบโจทก์ป่วยนอนหมดสติอาการหนักอยู่ภายในบ้าน จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลนนทเวชเพราะเห็นว่าอยู่ใกล้บ้านที่สุด ใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาที หากนำส่งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง การตัดสินใจนำโจทก์ส่งโรงพยาบาลนนทเวชเช่นนี้ย่อมชอบด้วยเหตุผลแล้ว และเมื่อถึงโรงพยาบาลมีการตรวจวัดความดันโลหิตแล้วอยู่ที่ 77/47 มิลลิเมตรปรอท แพทย์ลงความเห็นว่าคนป่วยมีอาการป่วยเจ็บหนักเข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน และลงความเห็นสมควรเข้ารับการผ่าตัดทันที แต่แพทย์ยังไม่ได้ทำการผ่าตัดในขณะนั้นทันที เพราะต้องทำการตรวจสอบตามขั้นตอนของการเตรียมการเพื่อความปลอดภัยของการผ่าตัด และทำการผ่าตัดในวันรุ่งขึ้นเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่าผ่าตัดได้แล้ว เช่นนี้ ระยะเวลาของการเตรียมการผ่าตัดเพื่อความปลอดภัยในการผ่าตัดย่อมอยู่ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องกับความฉุกเฉินที่จะต้องผ่าตัดทันทีและย่อมมีต่อเนื่องตลอดมา การที่จะให้โจทก์ซึ่งป่วยเจ็บหนักเช่นนี้มีความคิดที่จะเปลี่ยนเป็นเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ การที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลนนทเวชจึงมีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน