คดีนี้ เป็นปัญหาเรื่องยื่นบัญชีระบุพยานโดยโจทก์ทั้ง 8 สำนวนได้ฟ้องขับไล่จำเลยจากที่พิพาท จำเลยทุกสำนวนต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาคดีทั้ง 8 สำนวนนี้กับคดีแพ่งหมายเลขดำของศาลชั้นต้นที่ 84/2507 ซึ่งโจทก์จำเลยในคดีนั้นก็เป็นโจทก์จำเลยเดียวกันกับบางคดีใน 8 สำนวนนี้ ศาลสั่งให้โจทก์มีหน้าที่สืบพยานก่อนทั้ง 9 สำนวน แต่ปรากฏว่าโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ในสำนวนคดีหมายเลขดำที่ 84/2507 สำนวนเดียวโดยลงเลขคดีว่า คดีดำที่ 84/2507 แต่ชื่อคู่ความลงไว้ว่านายนพดลกับพวก โจทก์ นายเป้ากับพวก จำเลย ชื่อพยานระบุว่า 1. โจทก์อ้างตัวเองเป็นพยาน 2. นายพรมโจทก์ในคดีดำ 182, 186, 193/2507 อ้างตัวเองเป็นพยาน 3. นางทองใบโจทก์ในคดีดำ 186, 184, 187/2507 อ้างตัวเองเป็นพยาน และพยานเอกสารก็อ้างเรื่องราวจับจองที่ดินของโจทก์ทั้งสามนี้
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและแยกคดีทั้ง 8 สำนวนนี้ออกจากคดีดำที่ 84/2507 แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ อ้างว่าโจทก์ทั้ง 8 สำนวนนี้มิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ไม่มีพยานมาสืบให้สมฟ้อง
โจทก์ทั้ง 8 สำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) ให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานได้ทั้ง 8 สำนวน แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยทั้ง 8 สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามบัญชีระบุพยานที่ยื่นไว้ในคดีดำที่ 84/2507 นั้น ทนายโจทก์ซึ่งเป็นทนายคนเดียวกันของโจทก์ทั้ง 9 สำนวนเป็นผู้ยื่น และตามข้อความที่ลงไว้ในบัญชีระบุพยานนั้นเห็นได้ว่าเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานโดยระบุรวมกันไว้ทั้ง 9 สำนวน แม้เลขคดีจะมิได้ลงไว้ให้ครบถ้วน ก็เป็นความบกพร่องเพียงเล็กน้อยโจทก์จึงมีสิทธินำพยานสืบตามพยานที่ระบุไว้นั้นได้ทุกสำนวนโดยไม่จำต้องยื่นบัญชีพยานใหม่
พิพากษายืนในผลที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น แล้วให้พิจารณาพิพากษาใหม่