โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกกับพวกอีก 2 คน มีเฮโรอีน จำนวน 318 ก้อน น้ำหนัก 112,838 กรัม ปริมาณสารบริสุทธิ์ หนัก 96,250 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยทั้งหกกับพวกได้ร่วมกันพยายามส่งเฮโรอีนจำนวนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรไทยเพื่อจำหน่ายโดยทางเรือ ไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และจำเลยที่ 6 ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและใช้วิทยุมือถือจำนวน 1 เครื่อง โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งหกได้พร้อมเฮโรอีนที่จำเลยทั้งหกร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ถุงปุ๋ย 6 ถุง ท่อ พี.วี.ซี. 3 ท่อน เรือประมง 1 ลำ พร้อมอุปกรณ์การเดินเรือที่จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อใช้กระทำความผิดเป็นของกลาง และวิทยุมือถือ 1 เครื่อง ที่จำเลยที่ 6 นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,15, 65, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 22, 23 ขอให้ริบของกลางทั้งหมดโดยเฉพาะวิทยุมือถือขอให้ริบเพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ให้การปฏิเสธส่วนจำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง ให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(2) จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 50 ปี จำเลยที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสอง และตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 23 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษประหารชีวิต ฐานนำเข้าและใช้เครื่องมือวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปี จำเลยที่ 6 เคยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ในความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายให้จำคุกตลอดชีวิต ความผิดฐานนำเข้าและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้จำคุก 8 เดือน เมื่อรวมโทษทั้งสองกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยที่ 6 ไว้ตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ริบของกลางทั้งหมด ข้อหาอื่นให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5
โจทก์และจำเลยที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,66 วรรคสอง, 65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 65 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 86 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (ที่ถูกมาตรา 6(1)) 7 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 6 หนึ่งในสามลดโทษให้จำเลยที่ 4 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1)(2) คงลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 6 จำคุกตลอดชีวิตลงโทษจำเลยที่ 4 จำคุก 50 ปีริบวิทยุมือถือของกลาง เพื่อให้ไว้ใช้ในราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 เวลา 9.30 นาฬิกา พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ ได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีการขนยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรไทยทางเรือ จึงได้ขอความร่วมมือไปยังพลเรือโทอุฬาร มงคลนาวิน ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่ 2 ช่วยจับกุม ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2536 เวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา เรือ ต.14 ซึ่งมีเรือเอกพิชัย ล้อชูสกุลเป็นผู้บังคับการเรือได้ทำการตรวจค้นเรือประมงชื่อขุนสมุทรนาวี ขณะที่แล่นอยู่ในน่านน้ำไทย พบว่าจำเลยทั้งหกคดีนี้อยู่บนเรือลำดังกล่าวและได้พบเฮโรอีน 318 ก้อน น้ำหนัก 112,838 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 96,250 กรัม วิทยุมือถือ 1 เครื่อง จึงจับกุมจำเลยทั้งหกพร้อมเฮโรอีนและวิทยุมือถือดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวน ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ระวางโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเช่นเดียวกับตัวการ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 6(1) เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายมาตราดังกล่าวมาในฟ้องจึงเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและโจทก์กับจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่าจำเลยที่ 3 รับจ้างเป็นล่ามให้แก่จำเลยที่ 6 ในการติดต่อขอซื้อเฮโรอีนจากผู้ขาย ถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แต่ตามมาตรา 6(1)แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 เป็นกฎหมายพิเศษ ซึ่งกำหนดโทษให้ผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 6(1) นี้เป็นกฎหมายที่เป็นผลร้าย แก่จำเลยที่ 3 เพราะการที่ผู้สนับสนุนจะต้องรับโทษเท่าตัวการในความผิดนั้นมีผลทำให้จำเลยที่ 3 ต้องได้รับโทษสูงขึ้นกว่าการเป็นผู้สนับสนุนโดยทั่วไป จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยอื่น แต่โจทก์ก็มิได้อ้างมาตรา 6(1) ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาในคำขอท้ายฟ้องย่อมถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้สนับสนุนจำเลยที่ 6 ผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดศาลจึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น หาใช่ต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 6(1) แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 ด้วยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 6(1) แห่งบทบัญญัติดังกล่าวมานั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 4 และที่ 6 กระทำความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติดังคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 4 มีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้สนับสนุนช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 6 ในการกระทำความผิดฐานมีเฮโรอีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย สำหรับความผิดฐานพยายามส่งเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายนั้นได้ความจากคำเบิกความของพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษพยานโจทก์ว่าเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 พยานได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีการลักลอบนำเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรโดยทางเรือจึงมอบสายลับให้พันตำรวจโทสุรพล ทวนทอง นายเวรของพยานดำเนินการสืบสวน ต่อมาตอนเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม 2536 พันตำรวจโทสุรพลได้รับแจ้งจากสายลับว่าผู้ลักลอบค้ายาเสพติดได้นำเรือออกจากอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2536 พยานจึงติดต่อพลเรือโทอุฬาร มงคลนาวิน ผู้บัญชาการกองเรือภาคที่ 2 จังหวัดสงขลาขอความร่วมมือในการตรวจตราจับกุมเรือลำที่ต้องสงสัยตามที่สายลับได้แจ้งไว้ ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2536 พยานได้รับรายงานจากพลตำรวจตรีประสิทธิ์ เฟื่องอารมย์ ผู้บังคับการจเร กรมตำรวจว่า ทางกองทัพเรือภาคที่ 2 ได้จับกุมเรือดังกล่าวพร้อมผู้ต้องหาคดีนี้ 6 คนหลบหนีไป 1 คน ได้เฮโรอีนของกลางประมาณ 100 กิโลกรัม และยังได้ความจากคำเบิกความของเรือตรีสมาน กัวสงฆ์ และจ่าเอกมานพ สุขสิทธิ พยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยคดีนี้มาเบิกความยืนยันว่า ขณะที่ทำการตรวจค้นเรือประมงขุนสมุทรนาวีจำเลยที่ 3 ได้หนีไปซ่อนตัวอยู่กับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ในห้องเครื่อง และตามบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเอกสารหมาย จ.2 แผ่นที่ 3 ที่คณะเจ้าหน้าที่ประจำเรือ ต.14 ได้ทำขึ้นในขณะตรวจค้นและจับกุมจำเลยทั้งหกพร้อมเฮโรอีนของกลาง จำเลยที่ 1 ได้ให้รายละเอียดแก่คณะเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมว่า เรือประมงขุนสมุทรนาวีของกลางได้เดินทางมาจากจังหวัดตราด มีนายจำรัสเป็นผู้ควบคุมเรือและได้มุ่งหน้ามาทางจังหวัดสงขลามีจุดมุ่งหมายที่จะเดินทางไปเกาะไต้หวัน ซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.15 ว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารเรือตรวจค้นเรือขุนสมุทรนาวีของกลางได้ตรวจพบเฮโรอีนอัดแท่งจำนวน 318 แท่งบรรจุอยู่ในท่อพี.วี.ซี. สีฟ้าจำนวน 3 ท่อน และถุงปุ๋ย 6 ถุง เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาให้จำเลยที่ 3 ทราบว่าร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามส่งออกนอกราชอาณาจักร เพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ชั้นจับกุมจำเลยที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาและลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่มีผู้ใดบังคับ จำเลยที่ 3 ยังให้การอีกว่านายสมพงษ์ติดต่อให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 มาเป็นล่ามให้ชาวไต้หวันคือจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้นั่งเรือหางยาวมาขึ้นเรือใหญ่ชื่อขุนสมุทรนาวี เมื่อเรือลำดังกล่าวแล่นมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ได้มีเรือหางยาวอีกลำหนึ่งแล่นมาเทียบเรือลำดังกล่าว ภายในเรือหางยาวบรรทุกท่อ พี.วี.ซี จำนวน3 ท่อน ถุงปุ๋ยจำนวน 6 ถุง เมื่อเรือจอดเทียบกัน จำเลยที่ 3 กับพวกได้ช่วยกันยกท่อ พี.วี.ซี. และถุงปุ๋ยภายในบรรจุเฮโรอีนลงเรือลำใหญ่ เกี่ยวกับเรือที่บรรทุกเฮโรอีนของกลางนั้น จำเลยที่ 3 มีความเห็นว่าเรือขุนสมุทรนาวีนี้จะต้องนำเฮโรอีนออกนอกประเทศไปเกาะไต้หวันเพราะมีการเตรียมน้ำมันไว้จำนวนมาก ผู้ขายเฮโรอีนคือนายสมพงษ์ส่วนผู้ซื้อเฮโรอีนคือนายเช็งพู จำเลยที่ 6 ซึ่งคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ในชั้นสอบสวนนี้ได้ให้การโดยละเอียดเป็นขั้นเป็นตอนยากที่พนักงานสอบสวนจะปรุงแต่งขึ้นมาเองเพื่อปรักปรำหรือแกล้งใส่ร้ายจำเลยที่ 3 และคำให้การนี้ก็สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 ตามเอกสารหมาย จ.17 ว่า นายจำรัสเป็นผู้ซื้อเสบียงอาหารลงเรือขุนสมุทรนาวี มีทั้งเนื้อสัตว์และผักมากพอที่จะใช้รับประทานได้นานประมาณ 1 เดือน และยังซื้อน้ำมันโซล่า อีกจำนวน 25 ถังใหญ่ เชื่อว่านายจำรัสกับพวกคงจะใช้เรือลำเกิดเหตุเป็นพาหนะขนเฮโรอีนไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งแน่นอน คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 และคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 นี้แม้จะเป็นพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักน้อยแต่ศาลก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 และคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 5 ประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว รูปคดีน่าเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 3 เป็นล่ามให้จำเลยที่ 6 ในการติดต่อซื้อเฮโรอีนของกลางจำนวนมากแล้วจำเลยที่ 3 ยังร่วมเดินทางไปกับเรือขุนสมุทรนาวี โดยจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 นั่งเรือหางยาวพร้อมกันไปขึ้นเรือของกลางในภายหลัง เมื่อเรือของกลางแล่นไปในทะเลได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ได้มีเรือหางยาวนำเฮโรอีนของกลางบรรจุท่อ พี.วี.ซี. 3 ท่อน และใส่กระสอบปุ๋ยนำมาขึ้นเรือของกลางที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กับพวกร่วมเดินทางมา และจำเลยที่ 3 กับพวกก็ช่วยกันขนเฮโรอีนของกลางดังกล่าวขึ้นเรือของกลางโดยจำเลยที่ 6 เป็นชาวไต้หวันมีวิทยุมือถือ 1เครื่องด้วย ซึ่งน่าเชื่อว่ามีไว้เพื่อติดต่อกับพวกในการนำเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้พฤติการณ์ที่นายจำรัสผู้ควบคุมเรือของกลางเตรียมเสบียงอาหารไว้รับประทานขณะเดินทางในทะเลเป็นเวลานานถึงหนึ่งเดือนและมีน้ำมันโซล่าถังละประมาณ 200 ลิตร มีจำนวนมากถึง 25 ถัง ทั้งสภาพของเรือขุนสมุทรนาวีเป็นเรือประมงใช้สำหรับหาปลาในทะเลมิใช่เรือสำหรับใช้ท่องเที่ยว แสดงว่าจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นชาวไต้หวันกับจำเลยที่ 4 และพวกเตรียมขนเฮโรอีนของกลางจำนวนมากเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยไปยังเกาะไต้หวัน ซึ่งเป็นดินแดนที่จำเลยที่ 6 พักพำนักอยู่หรือประเทศใกล้เคียงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 6 กับพวกดังกล่าวจะจำหน่ายเฮโรอีนให้แก่ลูกค้าภายในประเทศไทย ตามเส้นทางเดินเรือของเรือประมงขุนสมุทรนาวีดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้วจำเลยที่ 6 กับพวกได้นำเฮโรอีนของกลางบรรทุกในเรือและอยู่ในระหว่างการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแต่ยังไม่พ้นน่านน้ำไทย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 และที่ 6 กับพวกร่วมกันพยายามส่งเฮโรอีนของกลางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 กับพวกกระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 4 และที่ 6 กับพวกพยายามส่งเฮโรอีนของกลางตามฟ้องออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายอีกบทหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 86 พระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 6(1), 7 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเพราะเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าจะปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 6(1) แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 โดยผู้สนับสนุนผู้กระทำผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดฐานเป็นตัวการไม่ได้เสียแล้วจึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งผู้สนับสนุนต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ได้สนับสนุนนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง,65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 86พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 7 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานพยายามส่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ประกอบมาตรา 52(1) ให้จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์