โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 34,385 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ร้อยตำรวจโทธนชาต ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 14,745 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 และยกคำขอให้ใช้เงิน 14,925 บาท แก่โจทก์ร่วมเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2559 โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยก่อสร้างสนามฟุตบอล ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 51/1 ซอยฉลองกรุง 13 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยเป็นผู้สั่งซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างและโจทก์ร่วมเป็นผู้จ่ายค่าอุปกรณ์ก่อสร้าง ต่อมาโจทก์ร่วมไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยในการสั่งซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง พนักงานสอบสวนทำบันทึกไว้ โจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวน ตามบันทึกคำให้การและได้มอบบิลเงินสดให้พนักงานสอบสวนไว้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าฉ้อโกง จำเลยให้การปฏิเสธ มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า โจทก์ร่วมรู้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ว่าจำเลยหลอกลวงเอาเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างไปจากโจทก์ร่วม ไม่ใช่รู้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งโจทก์ร่วมให้การคลาดเคลื่อนไปนั้น ได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมว่า ประมาณเดือนสิงหาคม 2560 โจทก์ร่วมขอดูบิลเงินสดที่เกี่ยวกับการสั่งซื้ออุปกรณ์ก่อสร้างจากจำเลย เมื่อโจทก์ร่วมตรวจดูบิลเงินสด รวม 6 แผ่นที่จำเลยส่งมอบให้ ปรากฏว่าบิลเงินสดดังกล่าวแผ่นที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 มีรายการอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นอย่างเดียวกันกับรายการอุปกรณ์ก่อสร้างในแผ่นที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 แต่จำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างรวมทั้งหมดในแผ่นที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 สูงกว่าจำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างรวมทั้งหมดในแผ่นที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ตามลำดับ โดยจำเลยแสดงบิลเงินสดที่มีจำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างสูงกว่าแก่โจทก์ร่วมและได้รับเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างจากโจทก์ร่วมไปเกินกว่าความเป็นจริง ทั้งโจทก์ร่วมเบิกความตอบคำถามค้านว่า ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 โจทก์ร่วมตรวจสอบบิลเงินสดในเบื้องต้นและพบความผิดปกติที่ชัดเจน 3 ฉบับ ซึ่งน่าจะหมายถึงบิลเงินสดนั่นเอง แสดงว่าโจทก์ร่วมรู้ถึงการกระทำของจำเลยดังกล่าวในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 สอดคล้องกับที่โจทก์ร่วมให้การไว้ในชั้นสอบสวน ข้ออ้างของโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมให้การในชั้นสอบสวนถึงวันที่โจทก์ร่วมถูกหลอกลวงคลาดเคลื่อนไป จึงไม่อาจรับฟังได้ เชื่อว่าโจทก์ร่วมรู้ถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่หลอกลวงเอาเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างไปจากโจทก์ร่วม อันเป็นการรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 แล้ว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงไม่ขาดอายุความนั้น ที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลฉลองกรุงบันทึกไว้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 มีใจความว่า โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่าประมาณเดือนเมษายน 2559 โจทก์ร่วมว่าจ้างจำเลยก่อสร้างสนามฟุตบอล โดยจำเลยมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง การจ่ายเงินในการก่อสร้าง การสั่งสินค้าต่าง ๆ ต่อมาโจทก์ร่วมเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเกินกว่างบที่ตั้งไว้ จึงให้จำเลยส่งมอบใบเสร็จรับเงินมาให้ตรวจสอบ เมื่อโจทก์ร่วมตรวจสอบแล้วจึงทราบว่าจำเลยนำใบเสร็จรับเงินซึ่งมีจำนวนเงินค่าสินค้าสูงเกินกว่าความเป็นจริงมาแอบอ้างแก่โจทก์ร่วมว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่ร้านค้าออกให้ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีให้จำเลยไป เหตุเกิดที่บ้านเลขที่ 51/1 ซอยฉลองกรุง 13 แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งไว้และจะได้สอบสวนต่อไป ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมแจ้งแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวพอเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถูกจำเลยหลอกลวงด้วยการนำใบเสร็จรับเงินซึ่งหมายถึงบิลเงินสดที่ระบุจำนวนเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริงมาแสดงแก่โจทก์ร่วม ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อและจ่ายเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้จำเลยไปเกินกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์ร่วม ทั้งยังได้ความดังกล่าวข้างต้นว่าโจทก์ร่วมส่งมอบบิลเงินสดให้พนักงานสอบสวนไว้ด้วย และในข้อที่พนักงานสอบสวนบันทึกในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจะได้สอบสวนต่อไป ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ขอให้พนักงานสอบสวนระงับการดำเนินการสอบสวนไว้ก่อน พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมเป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ร่วมได้แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยแก่พนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาจะให้จำเลยได้รับโทษแล้ว จึงเป็นคำร้องทุกข์ซึ่งได้กระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคดีขาดอายุความอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่น จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการต่อไปเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปตามลำดับศาล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่