โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ กค.0705.07/ก07/4587 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2552 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ. 1 (อธ.1)/310/2552 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 ของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ กค. 0705.07/ก07/4587 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2552 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ. 1 (อธ.1)/310/2552 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2552 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ลูกค้าได้ชำระเงินเป็นค่าสินค้า ค่าบริการหรือค่าจ้างรวมเอาส่วนที่เป็นผลกำไรให้แก่โจทก์โดยตรง แต่สาขาของโจทก์ในประเทศไทยไม่ได้ประมาณการส่วนที่เป็นกำไรเพื่อหักภาษีและนำส่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ค่าสินค้า ค่าบริการหรือค่าจ้างรวมเอาส่วนที่เป็นต้นทุนและผลกำไรระคนรวมกันจนเจ้าพนักงานของจำเลยไม่สามารถแยกได้ว่าส่วนใดเป็นกำไร จึงต้องถือว่าสำนักงานสาขาในประเทศไทยเป็นผู้จำหน่ายเงินที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกจากประเทศไทยทั้งจำนวน การที่เจ้าพนักงานของจำเลยคำนวณเฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าเงินกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 เป็นจำนวนเท่ากับ 420,120,035.69 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ลูกค้าชำระให้แก่โจทก์ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2545 อันเข้าลักษณะเป็นเงินกำไรที่จำหน่ายไปต่างประเทศ และนำวันที่ลูกค้าได้ชำระค่าบริการไปยังโจทก์โดยตรงถือเป็นวันที่มีการจำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศมาคิดคำนวณเงินเพิ่มจึงถูกต้องแล้ว นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไร กฎหมายกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จะต้องหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีการจำหน่ายเงินกำไร อันแสดงความหมายอยู่ในตัวว่า เมื่อมีการส่งเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยเมื่อใด ภาระภาษีย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น การที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2545 ลูกค้าได้โอนเงินค่าบริการให้แก่โจทก์ในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรงหลายครั้ง เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (อธ. 1)/310/2552 ของจำเลย โดยให้นำเงินค่าบริการที่ลูกค้าชำระแก่โจทก์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตลอดปี 2545 จำนวน 2,026,669,954.17 บาท โดยถือว่ามีเงินกำไรที่โจทก์จำหน่ายทั้งปีจำนวน 420,120,035.69 บาท แล้วนำเงินค่าบริการที่ลูกค้าชำระแก่โจทก์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในแต่ละเดือนมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อหาเงินกำไรที่สาขาจำหน่ายออกไปในแต่ละเดือน จากนั้นจึงนำมาคำนวณภาษีและเงินเพิ่มในแต่ละเดือน ทั้งนี้ให้คิดเงินเพิ่มจากภาษีของกำไรที่จำหน่ายออกไป นับแต่วันที่ 7 ของเดือนถัดไปของเดือนที่มีการจำหน่ายกำไรในแต่ละเดือนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 แต่ภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรต้องไม่เกิน 42,012,003.57 บาท และเงินเพิ่มทั้งหมดไม่เกิน 16,660,425.81 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง