โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามและส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดีโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแทนโดยจำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหาย 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม และร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์ในการใช้ที่ดิน เดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบที่ดินส่วนที่รุกล้ำคืนโจทก์ทั้งสามในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดี
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามเนื้อที่ 3.7 ตารางวา และส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดี ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์ เดือนละ 500 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและส่งมอบที่ดินพิพาท กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 4055 มีแนวเขตด้านทิศตะวันตกติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2182 และ 2184 ซึ่งมีชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ถือกรรมสิทธิ์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ได้ก่อสร้างรั้วคอนกรีตระหว่างเขตที่ดินของตนและโจทก์ทั้งสาม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด คือจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสามนำสืบรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามมีเนื้อที่ 84 ตารางวา ที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์ทั้งสามได้สิทธิในที่ดินพิพาทเนื้อที่เพียง 3.7 ตารางวา เป็นการไม่ชอบนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าตามคำฟ้องและคำให้การคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสามบุกรุกที่ดินของโจทก์ทั้งสามเนื้อที่เท่าใด โจทก์ทั้งสามไม่ได้ยอมรับว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่เพียง 3.7 ตารางวา ตามแผนที่พิพาท ศาลจึงต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวก่อน เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ทั้งสามเพียงใด อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับจำนวนเนื้อที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยทั้งสามรุกล้ำ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ทั้งสามนั้น เห็นว่า การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีจะต้องกระทำโดยอาศัยพยานหลักฐานในสำนวนคดี เว้นแต่ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (3) ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยศาลรับรู้ ศาลจึงต้องรับฟังเป็นยุติ ไม่ต้องสืบพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นอีก คดีนี้ได้ความว่าก่อนสืบพยานศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรีรังวัดทำแผนที่พิพาทโดยให้ปรากฏแนวเขตที่ดินของคู่ความ แนวเขตที่ดินพิพาท รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้หรือสิ่งอื่นใดบนที่ดินตามที่คู่ความนำชี้ เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินทำแผนที่พิพาทเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นนัดให้คู่ความมาตรวจและรับรองแผนที่พิพาทอีกครั้ง โจทก์ที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ทั้งสาม ทนายโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 3 และทนายจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นคู่ความในคดีได้ตรวจแผนที่พิพาทแล้ว รับรองว่าถูกต้อง เมื่อคู่ความรับกันแล้ว ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแผนที่พิพาทว่า ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 3.7 ตารางวา ตามแนวเขตเส้นสีเขียวที่โจทก์ทั้งสามนำชี้การรังวัดอ้างว่าจำเลยทั้งสามก่อสร้างรั้วคอนกรีตรุกล้ำแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสาม จึงรับฟังเป็นคำรับของคู่ความและรับฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 3.7 ตารางวา โดยไม่จำต้องสืบพยานกันในเรื่องที่รับกันนั้นอีก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามที่ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสามนำสืบรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามมีเนื้อที่ 84 ตารางวา แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามได้สิทธิในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3.7 ตารางวา ขัดแย้งกับคำแถลงรับต่อศาลชั้นต้นของคู่ความ ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการต่อมาว่า หลังจากปี 2559 โจทก์ทั้งสามยังคงได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ปล่อยน้ำออกจากโรงงานสีข้าวท่วมขังที่ดินของโจทก์ทั้งสามทำให้ไร่ข้าวโพดของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า เมื่อปี 2559 จำเลยทั้งสามได้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 87,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามยังไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องการปล่อยน้ำไหลลงและยังมีน้ำซึมออกเป็นระยะลงในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ทั้งสามเรียกร้องค่าเสียหายจากการขาดรายได้ขายข้าวโพดเฉลี่ยปีละ 200,000 บาท นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 280,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่ามีน้ำไหลออกจากโรงงานสีข้าว จำเลยที่ 1 ได้ปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เกิดน้ำรั่วไหลทันทีและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ โจทก์ทั้งสามมีภาระการพิสูจน์เพื่อสนับสนุนให้สมคำฟ้อง โดยโจทก์ที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความประกอบใบชั่งน้ำหนักว่า ปี 2560 จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำไหลลงไร่ข้าวโพด น้ำจึงท่วมขังไร่ข้าวโพดเหมือนเดิม และปี 2560 โจทก์ทั้งสามขายข้าวโพดได้ราคาประมาณ 90,000 บาท ทำให้ขาดรายได้ 60,000 บาท โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงสภาพน้ำท่วมขังหรือความเสียหายของต้นข้าวโพดในที่ดินของโจทก์ทั้งสามซึ่งง่ายแก่การพิสูจน์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามได้ร้องเรียนถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายดังเช่นปี 2559 มาก่อนแต่อย่างใด ประกอบกับโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า ปี 2561 และปี 2562 น้ำไม่ท่วมขังที่ดินของโจทก์ทั้งสามเพราะมีสภาพอากาศแห้งแล้ง และเบิกความตอบคำถามค้านว่า ขณะน้ำไหลออกมาเป็นช่วงฤดูฝน ดังนั้น ใบชั่งน้ำหนักข้าวโพดปี 2560 ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าการที่โจทก์ทั้งสามขายข้าวโพดในปี 2560 ได้ราคา 90,000 บาท แตกต่างจากปีอื่น ๆ ที่ขายได้ราคาสูงกว่ามีมูลเหตุที่เกิดจากจำเลยที่ 1 ปล่อยน้ำออกจากโรงงานสีข้าวไหลลงไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสามทำให้ไร่ข้าวโพดของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองไม่กำหนดค่าเสียหายจากการขาดรายได้ขายข้าวโพดให้แก่โจทก์ทั้งสามมานั้นชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า จำเลยทั้งสามจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม ศาลควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้สูงกว่าเดือนละ 500 บาท นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด กล่าวคือ นอกเหนือจากคำนึงถึงความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับจากการกระทำละเมิดแล้ว ให้พิจารณาถึงพฤติการณ์ในขณะเกิดเหตุกับความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามเนื้อที่เพียง 3.7 ตารางวา โดยก่อสร้างตามแนวกำแพงเดิมที่เจ้าของเดิมก่อสร้างไว้ มิได้จงใจก่อสร้างรั้วรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสาม ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้ เดือนละ 500 บาท นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสามหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ขณะจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ได้ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ส่วนการแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดแล้วบริษัทได้รับไปทั้งทรัพย์สิน สิทธิ และความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิมตามมาตรา 1246/6 เป็นเรื่องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดกับบริษัท ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเรื่องเฉพาะตัวไม่ได้โอนไปกับการแปรสภาพนั้น เห็นว่า ขณะห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.เป็นบริษัทจำกัดคือจำเลยที่ 1 แล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ย่อมหมดสภาพการเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246/5 และเกิดบริษัทใหม่ คือจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมรับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของห้างเดิมทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามโดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสาม จึงมีหนี้และความรับผิดในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสาม และส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดี รวมทั้งต้องชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนแปรสภาพมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. จึงต้องรับไปซึ่งหนี้และความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ที่มีอยู่เดิมมาทั้งหมดตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246/7 บัญญัติว่า "เมื่อจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดแล้ว หากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ตามที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วน" ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามว่าในการขอรังวัดเพื่อตรวจสอบแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสามเมื่อปี 2559 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจในขณะนั้นได้ทำการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสามจนเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามมาฟ้องร้องเป็นคดีนี้ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมิได้แสดงสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เท่านั้น จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น มีจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งต้องเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087 และจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 (2) เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสามเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ย่อมถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ผิดนัดชำระหนี้นับแต่เวลาที่มีการกระทำละเมิด ดังนั้น โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ในขณะนั้นจึงต้องร่วมรับผิดกับบรรดาหนี้และความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ด้วย นับแต่เวลาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กระทำละเมิดเป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อต่อมาภายหลังปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ได้มีการจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด คือจำเลยที่ 1 แล้ว หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ได้ โจทก์ทั้งสามในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิให้บังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นหุ้นส่วนเดิมในห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ที่แปรสภาพได้โดยไม่จำกัดจำนวนตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. จะต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น จะรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ซึ่งเป็นไปตามผลของกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 ให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ที่แปรสภาพได้ ให้บังคับชำระหนี้ดังกล่าวเอาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างที่แปรสภาพ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1