โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงิน 5,524,881.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งแปดให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 192,764.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จ่ายค่าชดเชย 410,976 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งแปดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติและจำเลยที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
โจทก์และจำเลยทั้งแปดฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งแปดว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หรือไม่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 11 บัญญัติว่า "ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า "กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ" โดยเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล..." และมาตรา 21 บัญญัติว่า "ให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติมีสำนักงานใหญ่ เรียกว่า "สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ" เรียกโดยย่อว่า "สทบ." และอาจตั้งสาขาตามความจำเป็นก็ได้" จำเลยที่ 1 จึงมีสถานะเป็นสำนักงานใหญ่ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ซึ่งจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 22 (1) ดำเนินการต่าง ๆ ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการ ประกอบกับตามมาตรา 23 วรรคสี่ ให้ผู้อำนวยการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้าง และรับผิดชอบการบริหารกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จึงเท่ากับเป็นการฟ้องกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาตินั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องต่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติแล้ว ไม่จำต้องกำหนดให้คำพิพากษาผูกพันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเพื่อให้มาร่วมกันรับผิดต่อโจทก์อีก ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการและผู้แทนของจำเลยที่ 1 โดยสืบเนื่องจากสัญญาจ้างพนักงานสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ระหว่าง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกับโจทก์ว่าไม่ดำเนินการประเมินผลการปฎิบัติงานของโจทก์เพื่อต่อสัญญาจ้างและเรียกค่าเสียหาย ถือเป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้อำนวยการของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และในฐานะผู้แทนของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 23 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติมีมติ จำเลยที่ 2 จึงได้กระทำการไปตามระเบียบ ข้อบังคับที่คณะกรรมการดังกล่าวกำหนดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงผูกพันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการจึงทำหน้าที่ไปตามขอบอำนาจตามมาตรา 23 วรรคห้า จำเลยที่ 2 จึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งแปดข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งแปดว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่โจทก์มีสิทธิได้รับการเลื่อนเงินเดือนขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดไม่เลื่อนเงินเดือนโจทก์ตามระเบียบสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือนของพนักงาน พ.ศ.2550 ขอให้จำเลยทั้งแปดชำระค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นการฟ้องโดยกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งแปดผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกสินจ้าง จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยไม่ปรับเลื่อนเงินเดือนโจทก์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2553 โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 24 สิงหาคม 2554 คำฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยทั้งแปดฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 นำเรื่องการต่อสัญญาจ้างของโจทก์เข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ไม่อาจทำได้และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีการเลือกปฏิบัติไม่ต่อสัญญากับโจทก์ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 23 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้อำนวยการอาจแต่งตั้งรองผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้" และวรรคแปด บัญญัติว่า "วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การปฏิบัติงานในหน้าที่ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด" ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2549 ข้อ 19 ระบุว่า พนักงานออกจากงานเมื่อ (6) สิ้นสุดสัญญาจ้าง และข้อ 25 ระบุว่า การให้ออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติตามข้อ 9 การเลิกจ้างหรือการลงโทษไล่ออกหรือให้ออก สำหรับพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการฝ่าย/สำนัก หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผู้อำนวยการจะสั่งให้ออกเพราะขาดคุณสมบัติข้อ 9 เลิกจ้าง หรือลงโทษไล่ออก หรือให้ออกได้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ จึงเห็นได้ว่า แม้จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจในการแต่งตั้งและเลิกจ้างโจทก์ แต่ก็ต้องกระทำโดยได้รับความเห็นชอบจาก กทบ. ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ไม่สรุปผลการต่อสัญญาจ้างกับโจทก์ โดยเสนอเรื่องให้ กทบ. พิจารณา จึงเป็นไปตามมาตรา 23 วรรคสอง เมื่อต่อมา กทบ. มีมติที่ประชุมไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์ และให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อคัดเลือกสรรหารองผู้อำนวยการโดยให้โจทก์มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกและสรรหาเป็นรองผู้อำนวยการ สทบ. ต่อไปได้ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติจึงสิ้นสุดลง อันมีผลมาจาก กทบ. มีมติดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากการเลือกปฏิบัติที่จะไม่ต่อสัญญาจ้างกับโจทก์ จำเลยทั้งแปดจึงมิได้กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในส่วนนี้มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 โดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และจำเลยที่ 2 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ทั้งนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง